ที่มาของชื่อ ของ เชียงรุ่ง

ที่มาชื่อนั้น มีตำนาน "พะเจ่าเหลบโหลก" (พระเจ้าเลียบโลก)[4] อยู่ว่า เมื่อครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเหินฟ้าเลียบโลกมาโปรดสัตว์ถึงยังดินแดนริมฝั่งแม่น้ำของ (ภาษาไทลื้อ เรียกว่า น้ำของ ภาษาจีน เรียก หลานชาง คำว่าน้ำโขงจึงไม่มีในภาษาไทลื้อ) ในอาณาจักรของชาวไทลื้อแห่งนี้ ก็เป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่พอดี จึงเรียกแห่งนี้ว่า "เชียง" ที่แปลว่า "เมือง" และ "รุ่ง" ที่แปลว่า "รุ่งอรุณ" ว่า "เชียงรุ่ง" จึงแปลได้ว่าเมืองแห่งรุ่งอรุณอันสดใส[5]

เชียงรุ่ง หรือ เชียงรุ้ง หากเทียบภาษา และสำเนียงไทลื้อแล้ว จะออกเสียงว่า "เจงฮุ่ง" ซึ่งหมายถึง เมืองแห่งรุ่งอรุณ คำว่า "เชียงรุ้ง" นั้นเป็นการเลียนในภาษาของชาวบางกอกเสียง ฮ จะเปลี่ยนเป็น ร เช่นคำว่า เฮา ในภาษาเหนือกลายมาเป็น เรา ในสำเนียงชาวบางกอก ภาษาเมื่อเทียบภาษาของชาวไทลื้อ เทียบสำเนียงภาษาไทลื้อแล้ว จะได้ความหมายดังนี้

  • ฮุง แปลว่า ตะไคร่น้ำ (หากฮุง) มีลักษณะสีเหลือง อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นตาน้ำ หรือบ่อน้ำตามริมห้วย
  • ฮุ่ง แปลว่า เวลารุ่งเช้า (ยามค่ำคืนฮุ่ง) สว่าง แจ้ง (น.) ต้นละหุ่ง ผลของลูกละหุ่ง หรือ
  • ฮุ้ง แปลว่า นกชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเดียวกับเหยี่ยว (ส่วนรุ้ง หรือ สายรุ้ง ที่เกิดบนฟ้านั้นชาวลื้อเรียกว่าแมงอี่ฮุม)
  • ภาษาไทลื้อไม่มีคำว่ารุ้ง การเรียกชื่อเมืองเชียงรุ้ง นั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะภาษาไทลื้อ ออกเสียงว่า เจงฮุ่ง (เดิม อาจออกเสียงว่า เจียงฮุ่ง แต่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) อาจได้รับอิทธิพลจากการออกเสียงในภาษาจีนกลาง) เมื่อเทียบกับภาษาเขียนแล้วเชียงรุ่งในอักษรลื้อ ใช้ตัว ร แต่อ่านออกเสียงตัว ฮ ซึ่งการเรียกชื่อเมืองเชียงรุ่งในศัพท์ภาษาไทยนั้นจึงถูกต้องที่สุด[6][7]

อีกหนึ่งความเห็น เชื่อว่า "เชียงรุ่ง" ได้ชื่อมาจาก ตำนาน เรื่อง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ซึ่งขยายอำนาจจากเมืองพะเยาไปเมืองเงินยางเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) จนถึงตอนใต้ของยูนนานที่สิบสองพันนา (จึงมีชื่อเมืองว่าเชียงรุ่ง หรือเจียงฮุ่ง จาก นามท้าวฮุ่ง)[8]