ประวัติ ของ เชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุคแรก

แต่เดิมนักศึกษาที่ทำหน้าที่นำร้องเพลงเชียร์ มักจะเป็นประธานชมรมเชียร์ หรือ ตัวแทนนักศึกษาชายในชมรมฯ ที่มีความสามารถในเชิงวาทศิลป์ สามารถโน้มนำให้กองเชียร์เกิดความสนุกสนานและมีความสามัคคีในการร้องตะโกน ร้องเพลง เชียร์ โดยแต่ละคนจะมีท่าทางและประจำเพลงและการแต่งกายประจำตัวที่คิดขึ้น และขึ้นนำเชียร์เพียงคนเดียวต่อมาหลังจากเริ่มมีการคิดประดิษฐ์การแปรอักษรขึ้นการจัดกลุ่มของกองเชียร์ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับการแปรภาพ หรือ ตัวอักษรที่สวยงาม ประกอบกับกองเชียร์เริ่มมีจำนวนมาก ทำให้การนำร้องเพลงเชียร์กับกองเชียร์ขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากมากขึ้น จนเริ่มมีการพัฒนาการนำเชียร์ให้เหมาะสมโดยเพิ่มจำนวนผู้นำเชียร์จากการนำเดี่ยวเป็นการนำเป็นกลุ่ม โดยมีการเพิ่มจำนวนผู้นำเชียร์ขึ้น แสดงท่าทางเหมือนกันในแต่ละเพลง และเพิ่มผู้นำเชียร์หญิงเข้ามาในกลุ่มด้วย

เริ่มเป็นกลุ่มชัดเจน

การนำเชียร์เป็นกลุ่มเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังประมาณปี พ.ศ. 2525 โดยเริ่มจากกลุ่มตัวแทนและนิสิตนักศึกษาจากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ร่วมกันคิดค้นท่าทางสำหรับการนำเชียร์เพลงประจำสถาบันยูงทอง และ มหาจุฬาลงกรณ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยร่วมกัน โดยใช้ท่าทางที่มีความหมายตรงกับเนื้อหาของเพลงทั้งสอง เช่น ท่าตึกโดม ท่าพระเกี้ยว ท่าธรรมจักร รวมถึงท่าทางพื้นฐานอื่น ๆ โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวคิดและต้นแบบแรงบันดาลใจจาก ผู้ควบคุมวงดนตรีหรือ วาทยากร ที่ทำหน้าที่นำการเล่นดนตรีวงใหญ่ หรือ การร้องประสานเสียง เนื่องจากผู้นำเชียร์นั้นนอกจากจะมีท่วงท่าสง่างาม ยังมีรหัสสัญญาณมือที่สื่อความหมายสามารถประยุกต์ใช้กับการร้องเพลงเป็นหมู่คณะของกองเชียร์ ส่วนทางทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ต้นแบบของการเต้นบัลเลต์ โขน และลีลาศ ในการนำเชียร์ประกอบเพลงสถาบันซึ่งเหมาะสมกับท่วงทำนองที่ไพเราะของเพลงสถาบันของจุฬาฯ

ท่าทางที่สื่อความหมาย

ท่าทางการนำเชียร์ของธรรมศาสตร์จนปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นมาตรฐาน มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน เน้นความแข็งแรงชัดเจนจนเป็นเอกลัษณ์ของเชียร์ลีดเดอร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผลต่อการร้องเพลงเชียร์ของกองเชียร์ หรืออาจกล่าวได้ว่า เชียร์ลีดเดอร์นั้นร้องเพลงออกมาเป็นท่า คือต้องมีท่าทางที่สวยงามตรงความหมายอันไพเราะของเพลง มีพลังในการแสดงท่าทางเหมือนเสียงที่กองเชียร์ต้องเปล่งออกมาดังและกังวาน และมีความพร้อมเพรียงเหมือนกับกองเชียร์ที่ต้องร้องเพลงพร้อมเพรียงกัน

การแต่งกาย

สำหรับการแต่งกายของเชียร์ลีดเดอร์ทั้งสองสถาบันก็เริ่มพัฒนาจากเดิมที่มีการแต่งการสร้างสีสันการนำเชียร์หน้าอัฒจันทร์ของประธานเชียร์ หรือ ผู้นำร้องเพลง โดยกลุ่มผู้นำเชียร์จะแต่งกายเป็นกลุ่ม เหมือนกัน โดยเน้นความทะมัดทะแมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางกลุ่มผู้นำเชียร์ของธรรมศาสตร์ จะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือนอกเหนือจากจะใช้สี หรือสัญลักษณ์ประจำสถาบันที่โดดเด่น ยังมักแฝงแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดหลักการการจัดงาน การเชียร์ หรือ ในปีนั้น ๆ ส่วนทางจุฬาฯ มักจะเน้นการแต่งกายที่อ่อนหวาน โก้หรู โดยใช้สีชมพู หรือขาวสอดคล้องกับประเพณีการเชียร์และเพลงสถาบันเช่นกัน

ปัจจุบันเชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงรูปแบบหลักของท่าทางการนำเชียร์ไว้กว่ายี่สิบปี โดยพัฒนาเพิ่มเติมสีสัน เนื้อหา ความหมายของท่าทางการเชียร์ และมีการประยุกต์เทคนิคการเชียร์รูปแบบอื่น ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่นปีพ.ศ. 2538 เคยประยุกต์การเชียร์แบบปอมปอม ใช้อุปกรณ์ประกอบ และ การแต่งตัวแบบกองทัพเชียร์ญี่ปุ่น หรือ โอเอ็นดัน เข้ามาเพื่อเพิ่มสีสันให้กับการเชียร์ หรือมีการใช้การแปรขบวนของกองดุริยางค์ ในการแปรรูปท่าทาง และตำแหน่งการยืนนำจังหวะตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา หรืออย่างในยุคปัจจุบันจะมีการประยุกต์ท่าทางการนำเชียร์สำหรับนำกองเชียร์ร้องเพลงอื่น ๆ เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงสนุกสนานอื่น

ใกล้เคียง

เชียร์อัป เชียร์ลีดดิง เชียร์ลีดเดอร์ เมลิสซา เชียรช่วง กัลยาณมิตร เชียร์เคสสค์ เชียร์ฮาร์ตแอตแทก เชียร์ เชียร์ จี๊ด จี๊ด วี๊ดหวานเผ็ด เชียร์กาลา เชียร์ ฑิฆัมพร เชียร์ลีดเดอร์ (เพลง)