ประวัติ ของ เซกา

บริษัทเซก้าก่อตั้งในปี ค.ศ. 1940 โดยในตอนแรกใช้ชื่อบริษัทว่า แสตนดาร์ดเกมส์(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เซอร์วิสเกมส์) ก่อตั้งในเกาะฮาวายประเทศสหรัฐอเมริกา[3] โดยมีเป้าหมายในการผลิตเครื่องเล่นแบบหยอดเหรียญสำหรับผ่อนคลายขายให้กองทัพนำไปตั้งตามฐานทัพเพื่อให้ทหารได้หย่อนใจ ต่อมาบริษัทได้ย้ายที่ตั้งบริษัทไปตั้งที่ญี่ปุ่นในปี 1951 และจดทะเบียนในชื่อ "SErvice GAmes of Japan" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เซก้า"

ในปี 1954 นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้หนึ่งได้ก่อตั้งบริษัท "รอซเซน เอนเตอไพรซ์" ขึ้นในญี่ปุ่น โดยเป็นบริษัทส่งออกสินค้าทางศิลปะ ต่อมาทางบริษัทได้นำเข้าตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแบบหยอดเหรียญเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง ตู้ถ่ายรูปแบบยอดเหรียญกลายเป็นกระแสที่นิยมอย่าสูงในญี่ปุ่น บริษัทรอซเซนจึงตัดสินใจขยายกิจการโดยเริ่มนำเข้าตู้เกมแบบหยอดเหรียญเข้ามาทำตลาดด้วย

ในปี 1965 บริษัทเซอร์วิสเกมและบริษัทรอซเซนเอนเตอไพรซ์ก็ได้ควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน กลายเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อ "เซก้า" ภายในปีเดียวกัน เซก้าได้นำเกมจำลองการขับเรือดำน้ำออกขาย ซึ่งกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ในปี 1969 บริษัท กัลฟ์+เวสต์เทิร์น ได้เข้าซื้อบริษัทเซก้าได้สำเร็จ แต่ได้อนุญาตให้นายรอซเซนCEOคนเก่าของเซก้ายังคงตำแหน่งCEOของเซก้าต่อไป ภายใต้การบริหารของนายรอซเซน เซก้ากลายเป็นผู้ผลิตเกมรายใหญ่ ผลิตเกมที่ได้รับความนิยมมากมาย

ในปี 1983 ตลาดวิดีโอเกมซบเซาอย่างหนัก หรือที่เรียกกันว่า "ยุคล่มสลายของวิดีโอเกม" เซก้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนในที่สุดบริษัทกัลฟ์+เวสต์เทิร์นจึงได้ขายทรัพย์สินของเซก้าที่ตนถือครองอยู่ให้กับบริษัท"บอลลี"ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมพินบอลชั้นนำ ส่วนทรัพย์สินของเซก้าในญี่ปุ่น นายรอซเซนอดีตCEOได้ร่วมทุนกับนายฮายาโอะ นาคายาม่า เข้าซื้อทรัพย์สินของเซก้าในญี่ปุ่น นายนาคายาม่าได้เป็นCEOคนใหม่ของเซก้า ส่วนนายรอซเซนได้เป็นหัวหน้าสาขาของเซก้าในอเมริกา

ในปี 1984 กลุ่มบริษัท CSK ได้เข้าซื้อบริษัทเซก้า และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท "เซก้า เอนเตอไพรซ์ จำกัด" โดยมีสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น มีนายอิซาโอะ โอคาวะเป็นประธานบริษัท และมีการนำหุ้นของบริษัทเซก้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 1986

ในปี 1986 ตลาดวิดีโอเกมในอเมริกาได้เริ่มฟื้นตัวขึ้น เซก้าจึงฉวยจังหวะนี้ก่อตั้งบริษัท "เซก้า ออฟ อเมริกา" ขึ้นมา และได้ผลิตเครื่องเกมคอนโซลเครื่องแรกของเซก้าที่ชื่อ"มาสเตอร์ซิสเต็ม"ขึ้นมาแข่งกับแฟมิคอมของบริษัทนินเทนโด ถึงแม้เซก้าจะแพ้ให้กับนินเทนโดในการขายมาสเตอร์ซิสเต็มในอเมริกาเหนือ แต่เซก้าสามารถครอบครองตลาดยุโรปและบราซิลได้สำเร็จ

เมกาไดรฟ์

ดูบทความหลักที่: เมกาไดรฟ์

เซก้าผลิตเครื่องเกม 16 บิทที่ชื่อ"เมกาไดรฟ์"(ในอเมริกาใช้ชื่อว่า"เจเนซิส")ออกวางจำหน่ายในปี 1988 เครื่องเมกาไดรฟ์นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแฟมิคอมหลายเท่า เซก้าจึงหวังจะใช้เมกาไดรฟ์ในการตีตลาดวิดีโอเกมที่นินเทนโดครอบครองอยู่ โดยใช้สโลแกนว่า "เจเนซิสทำ ในสิ่งที่นินเทนโดทำไม่ได้"(Genesis does what Nintendon't) ซึ่งต่อมาในปี 1991 เมื่อนินเทนโดนำเครื่องเกมรุ่นใหม่ที่ชื่อ"ซูเปอร์แฟมิคอมออกจำหน่าย จึงเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสองบริษัท จนเรียกขานกันภายหลังว่าเป็นสงครามเกมคอนโซลที่ดุเดือดที่สุด เพื่อแข่งกับเกมชื่อดังของนินเทนโดอย่างมาริโอ เซก้าพัฒนาเกมใหม่ที่มีชื่อว่า"Sonic the Hedgehog" โดยมีจุดมุ่งหมายเอาใจตลาดกลุ่มวัยรุ่นในยุคนั้น ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูเท่ห์กว่าและการดำเนินเกมที่เร็วกว่าเกมมาริโอต่อมาเมื่อสื่อบันทึกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า CD-ROM เริ่มเป็นที่นิยม เซก้าได้พัฒนาอุปกรณ์เสริมที่ชื่อ "เซก้า-CD" ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้เครื่องเมกาไดรฟ์สามารถเล่นเกมจากแผ่นCDได้ ต่อมาในปี 1994 เครื่องเกมแบบ 16 บิทเริ่มจะล้าสมัย เซก้าได้พยายามยืดอายุของเครื่องเมกาไดรฟ์โดยออกอุปกรณ์ที่ชื่อ"เซก้า-32X"ออกวางจำหน่าย โดยเซก้า-32Xจะช่วยอัพเกรดให้เครื่องเมกาไดรฟ์มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเครื่องเกม32บิท แต่ก็ต้องหลีกทางให้เครื่องเกมรุ่นใหม่อย่างเพลย์สเตชันและแซทเทิร์นในที่สุด

ความสำเร็จในอุตสหกรรมเกมอาเขต

ในปี 1993 เซก้าได้นำเกมต่อสู้ 3มิติ "Virtua Fighter"ออกจำหน่ายในรูปแบบของเกมตู้อาเขต ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเซก้า ด้วยตู้เกมส์อาเขตแบบใหม่ที่เซก้าพัฒนาขึ้น เวอร์ช่วลไฟต์เตอร์เป็นผลงานที่ล้ำหน้าในยุคนั้นในด้านกราฟิกแบบ 3มิติ ซึ่งเกมนี้เป็นจุดกำเนิดของเกมต่อสู้แบบ 3มิติ

ต่อมาในปี 1994 เซก้าก็ได้นำเกมแข่งรถที่ชื่อ"เดโทน่าUSA"ออกวางตลาด ซึ่งกลายเป็นเกมแข่งรถแบบอาเขตที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เป็นเกมแข่งรถที่ทำเงินได้มากที่สุดในยุคนั้น ในปีเดียวกันเซก้าก็ได้นำเกม"เวอร์ชวล คอป"และ"สตาร์ วอวร์"ออกวางตลาด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ในปี 1994 เซก้าได้เข้าซื้อบริษัทผลิตเกมพินบอล[4] และเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดเกมพินบอลในอเมริกา ซึ่งต่อมาเซก้ากลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเกมพินบอลรายใหญ่ที่สุดในโลก

แซทเทิร์น

ดูบทความหลักที่: แซทเทิร์น

เซก้านำเครื่องเกมรุ่นใหม่ที่ใช้CD-ROMที่ชื่อ"แซทเทิร์น"ออกวางจำหน่ายในปี 1994 โดยแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเครื่องเพลย์สเตชันของโซนี่และนินเทนโด 64ของนินเทนโด แต่เครื่องแซทเทิร์นกลับขายไม่ค่อยดีนักในตลาดฝั่งตะวันตก เครื่องแซทเทิร์นจึงถูกเซก้าทอดทิ้งในเวลาไม่นาน แต่ในญี่ปุ่น เครื่องแซทเทิร์นประสบความสำเร็จพอสมควร จึงมีเกมที่ออกวางขายเฉพาะในญี่ปุ่นออกให้กับเครื่องแซทเทิร์นจำนวนมากมายปี 1997 เซก้าได้ควบรวมกิจการกับบันได (บริษัทญี่ปุ่น)ชั่วคราว แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็แยกตัวออกมา เนื่องจาก"วัฒนธรรมในการทำงานแตกต่างกัน"[5]

ดรีมแคสต์

ดูบทความหลักที่: ดรีมแคสต์

ในวันที่ 9 เดือน 9 ปี ค.ศ. 1999 เซก้าได้เปิดตัวเครื่องเกมรุ่นใหม่ นั่นคือ "ดรีมแคสต์" ดรีมแคสต์นั้นมีราคาไม่แพงนัก ทั้งยังมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถเล่นเกมที่มีคุณภาพสูงกว่าเกมของนินเทนโด64หรือเพลย์สเตชัน พร้อมด้วยแถมโมเด็มขนาด 56K มาพร้อมกับเครื่อง ทำให้สามารถเล่นเกมดรีมแคสต์ออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ เซก้าได้พัฒนาเกมที่สามารถใช้กับระบบออนไลน์นี้ เช่น เกม"แฟนตาซี สตาร์ ออนไลน์" ซึ่งเป็นเกมออนไลน์บนคอนโซลเกมแรกของวงการ

แต่อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของดรีมแคสต์ในญี่ปุ่นไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากมีจำนวนเกมให้เลือกเล่นน้อย และบรรดานักเล่นเกมต่างกำลังรอคอยเครื่องเพลย์สเตชัน 2ที่กำลังจะออกใหม่ ทำให้เครื่องดรีมแคสต์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนในตลาดฝั่งตะวันตกนั้นประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับการเรียกขานว่า"การเปิดตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์" ในอเมริกาขายได้ถึง 5แสนเครื่องภายในอาทิตย์แรก[6] เซก้าสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดนี้ไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเครื่อง"เพลย์สเตชัน"ของโซนี่เปิดตัวในอเมริกา ซึ่งทำให้ความนิยมของดรีมแคสต์ตกต่ำลง จนสูญเสียตลาดให้กับโซนี่ในที่สุด

เครื่องดรีมแคสต์ได้สร้างนวัตถกรรมใหม่ๆหลายอย่างให้กับวงการเกม เช่น การใช้กราฟิกแบบ"เซล-เชด" ระบบที่ทำให้ติดต่อกับเกมผ่านทางไมโครโฟนได้ และเกมชื่อดังอย่างเกม"เชนมู"ที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี เกมของเซก้านั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากบรรดานักเล่นเกมส่วนมาก เนื่องจากบรรดานักเล่นเกมมัวแต่หันไปสนใจกับเครื่องเพลย์สเตชัน 2

เซก้าต้องประสบกับปัญหาหนี้สิน และการเข้ามาของเพลย์สเตชัน 2 ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เซก้าจึงตัดสินใจยุติการผลิตเครื่องดรีมแคสต์ และถอนตัวจากอุตสาหรกรรมเครื่องเกมคอนโซล เครื่องดรีมแควต์จึงเป็นเครื่องเกมคอนโซลเครื่องสุดท้ายของเซก้า