เหตุการณ์สำคัญ ของ เซ็นทรัลเวิลด์

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาคารส่วนของ ห้าง ZEN ที่ถล่มลงมาZEN World ส่วนที่เหลือ

ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน เริ่มใช้พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ารายงานตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ลุกลามไปสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยจุดหนึ่งที่มีการลอบวางเพลิง และเข้าทุบทำลายอาคารคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[7][8] ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ด้วยสาเหตุข้างต้น จึงส่งผลให้เซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซน หลังเพลิงไหม้ได้ลุกขึ้นนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 01.00 น. เพลิงไหม้เริ่มส่งผลให้ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลงจนด้านหน้า (บริเวณป้ายโลโก้เซ็นทรัลเวิลด์) ถล่มลงมา และเจ้าหน้าสามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 02.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม[9]

หลังจากนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้ามาสำรวจสภาพของศูนย์การค้าที่คงเหลืออยู่ในวันถัดมา พบว่าเพลิงไหม้ได้ทำลายตัวอาคารประมาณหนึ่งในสาม โดยส่วนของห้างสรรพสินค้าเซน ได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ อาคารสำนักงาน และอาคารอิเซตัน ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาเซ็นทรัลพัฒนาได้แถลงข่าวชี้แจงว่า การซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นไม่นานส่วนของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ก็สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยจะปรับภูมิทัศน์ใหม่ ให้เป็นสวนกลางใจเมือง เสริมเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนสีสันของแต่ละโซน ได้ตามช่วงเวลาของวัน และเพิ่ม "เดอะริงก์" ลานสเก็ตน้ำแข็งในร่มขนาดใหญ่ บริเวณหน้าบีทูเอส ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการเช่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องละเว้นให้กับร้านค้าผู้เช่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ รวมถึงรายได้สัมพัทธ์รายการอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท ยังต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงการทั้งหมดเอง โดยระหว่างนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งไปยังบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เพื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่อาคารถูกเพลิงไหม้ แต่เทเวศประกันภัยกลับแจ้งว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุก่อการร้ายจึงไม่ได้เข้าเงื่อนไขการเบิกสินไหมทดแทน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องเทเวศประกันภัยต่อศาลฎีการ่วมกับ กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ (ในฐานะโจกท์คนที่หนึ่ง) บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด (ในฐานะโจกท์คนที่สาม) และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (ในฐานะโจกท์คนที่สี่) ในเวลาต่อมา[10] รวมถึงได้ยื่นฟ้องร้องเอาผิดกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินกับศาลอาญาด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลได้มีคำสั่งตัดสินเกี่ยวกับสองคดีที่เซ็นทรัลพัฒนายื่นฟ้องร้องไป โดยคดีแรกที่ได้รับการตัดสินก็คือคดีการเบิกสินไหมทดแทน โดยศาลแพ่งตัดสินว่าให้เทเวศประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเป็นจำนวนเงิน 2,719 ล้านบาทสำหรับค่าความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงค่าชดเชยทดแทนกรณีเหตุธุรกิจหยุดชะงักอีก 989 ล้านบาท โดยให้จ่ายรวมดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ไปจนกว่าจะชำระครบทั้งหมด พร้อมทั้งจ่ายค่าทนายและค่าดำเนินการทั้งหมดให้แก่เซ็นทรัลพัฒนาอีก 60,000 บาทด้วย[11] แต่อย่างไรเสีย เทเวศประกันภัย กลับยื่นอุทธรณ์คดีโดยชี้แจงถึงเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะเงื่อนไขไม่ตรงกับกรมธรรม์ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้ทำไว้ ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งพิพากษากลับให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่ากองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ได้ทำกรมธรรม์คุ้มครองในกรณีการก่อการร้ายเอาไว้อีกกรมธรรม์หนึ่งกับ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเบิกสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์นี้แทนเป็นจำนวนเงิน 3,500 ล้านบาท และไทยเศรษฐกิจประกันภัย ได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

ส่วนคดีความที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษที่ 4 ได้ยื่นฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ศาลอาญาได้ตัดสินว่าจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีความผิดเพราะศาลเห็นว่าในหลักฐานจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลที่ถือถังดับเพลิง ไม่ใช่อุปกรณ์วางเพลิง ถึงแม้ว่าจากหลักฐานจะมีภาพถ่ายของยามรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าที่สามารถจับภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกทำลายเข้ามาเข้ามาพร้อมโยนขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันก๊าซพร้อมจุดไฟเอาไว้ได้ แต่ศาลวินิจฉัยว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้น อยู่ไกลจากตัวจำเลยที่ 1 ไปเกินกว่า 30 เมตร ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดไป[12]

เหตุนั่งร้านถล่มเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ในระหว่างการซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนนั้น ได้เกิดเหตุนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันเพดานชั้น 7 ได้เกิดทรุดตัวลงและถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 2 คน และ ได้รับบาดเจ็บ 6 คน และยังมีถังแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมเหล็กได้ถูกแผ่นปูนตกลงมาใส่ ได้เกิดความเสียหายและมีแก๊สรั่วออกมา จึงทำให้ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อให้แก๊สเจือจาง สาเหตุนั้นเกิดจากบริเวณระหว่างนั่งร้านชั้น 1 กับชั้น 2 ซึ่งใช้เป็นที่พักของอิฐก่อสร้าง รวมถึงนั่งร้านได้ถูกใช้งานเป็นที่ขนแผ่นพื้นคอนกรีต จึงไม่สามารถแบกรับน้ำหนักเอาไว้ได้ส่งผลให้นั่งร้านพังถล่มลงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้การซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนต้องระงับการซ่อมแซมไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการออกแบบของแบบแปลนนั่งร้าน [13]

เพลิงไหม้อาคารเซนเวิลด์ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซนที่ยังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม จุดเกิดเหตุอยู่บนชั้น 11 ของอาคารเซนเวิลด์ โดยมีกลุ่มควันโพยพุ่งออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เจ้าหน้าดับเพลิงใช้เวลาเพียง 15 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยตัวอาคารได้รับความเสียหายที่ส่วนฝ้าเพดานและช่องแอร์ ได้ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายกินพื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้นคาดว่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังคงเปิดให้บริการตามปกติอยู่ และไม่ได้กระทบกับผู้ที่ใช้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[14]

เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กลุ่ม กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครชั้นในกว่า 9 จุด เพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้ข้าราชการ และตำรวจสามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ โดยจุดหนึ่งที่มีการตั้งเวทีใหญ่ก็คือบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มมีการตั้งเวทีการชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ส่งจดหมายด่วนถึงร้านค้าเช่าว่าจะขอปิดศูนย์การค้าเร็วกว่าปกติ ก็คือเวลา 10.00-18.00 น. โดยใช้เวลานี้เท่ากันทั้งอาคารศูนย์การค้าหลักและอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงอาทิตย์แรกของการชุมนุม แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเป็น 10.00 - 20.00/21.00 น. ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในช่วงอาทิตย์ที่สามของการชุมนุม แต่ภายหลังที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ใช้เวลาในการเปิดปิดศูนย์การค้าเป็นเวลา 10.00-19.00 น. อีกครั้ง และจะประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดกั้นพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าบางส่วน และไม่อนุญาตให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกบริเวณถนนพระรามที่ 1 ทุกกรณี ซึ่งรถที่จะเข้า-ออกศูนย์การค้า จะต้องใช้ทางเลี่ยงด้านหลังสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ในการเดินทางเข้ามาแทน แต่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการเปิดเส้นทางให้รถยนต์สามารถเข้า-ออกศูนย์การค้าได้จากฝั่งถนนราชดำริตามปกติ อีกทั้งเหตุการณ์นี้ทำให้การตกแต่งภายในของอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้ามาไม่ได้อีกด้วย แต่พอกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. สำหรับอาคารศูนย์การค้า และเวลา 10.00-01.00 น. สำหรับอาคารกรูฟ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีกครั้ง นับเป็นการปรับลดราคาเช่าพื้นที่เป็นครั้งที่สองหลังจากไม่ได้ปรับลดอีกตั้งแต่เหตุชุมนุม พ.ศ. 2553 และทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ไปกว่าร้อยล้านบาทภายในระยะเวลา 2 เดือนที่กลุ่ม กปปส. ใช้พื้นที่บริเวณศูนย์การค้าเป็นที่ชุมนุม

เหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์[15][16][17][18] โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และเจ้าหน้าที่สายด่วน 199 ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 17.49 น. จึงเดินทางไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง สถานีดับเพลิงพญาไท และสถานีดับเพลิงคลองเตย เพื่อระดมเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุดในทันที โดยเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ สภาพอาคารยังมีเปลวไฟและควันดำพุ่งออกมาจากบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้กันประชาชนที่อพยพออกมาให้ออกนอกพื้นที่ และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายยานพาหนะทุกชนิดออกจากศูนย์การค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 18.45 น. ก่อนเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเวลา 21.00 น. เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยเป็นพนักงานของ บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด 2 ราย ได้แก่[19]นายศักดิ์ชัย เจริญลาภ และนายอาทิตย์ คำสาย และประชาชนทั่วไปหนึ่งราย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดทำการในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นเวลา 1 วัน เพื่อระบายควันออกจากพื้นที่ ก่อนเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562

ต่อมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงสาเหตุที่แท้จริงของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยสาเหตุและต้นเพลิงอยู่ภายในบริเวณภายในห้องเครื่องชั้น B2 ของอาคารสำนักงาน โดยเหตุเกิดบริเวณบ่อดักไขมันของศูนย์การค้าที่เกิดความร้อนสะสมถึง 800 องศา เมื่อมีความร้อนสูงบวกกับสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด จึงเกิดประกายไฟอันเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ เพลิงไหม้สร้างความเสียหายบริเวณห้องเครื่องอย่างหนัก ก่อนกลุ่มควัน ประกายไฟและความร้อนจะลามขึ้นไปยังชั้น 8 อย่างรวดเร็วผ่านช่องลมระบายควัน แต่จากความร้อนที่สูงมากจึงทำให้ช่องลมเกิดการละลายจนถล่มลงมา ก่อให้เกิดกลุ่มควันหนาแน่นบริเวณห้องเครื่องชั้น 8 ก่อนเพลิงไหม้ซ้ำอีกครั้งในบริเวณสำนักงานและห้องเก็บเอกสาร และกลุ่มควันบางส่วนได้ลอยเข้าไปในศูนย์การค้าและตัวโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า[20] อย่างไรก็ตามส่วนของโรงแรมไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ และแขกที่เข้าพักรวมถึงพนักงานทุกคนปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[21] ในส่วนของกรณีสัญญาณเตือนภัยที่ถูกสังคมออนไลน์ร้องเรียน เซ็นทรัลพัฒนาได้ชี้แจงว่าเนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จึงได้วางระบบป้องกันอัคคีภัยให้แจ้งเตือนเป็นโซน ๆ แทนการวางระบบให้เตือนพร้อมกันทั้งศูนย์ฯ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกตกใจของประชาชนที่จะเพิ่มความลำบากในการอพยพ[22] และในระหว่างที่เกิดเหตุ เชียร์ - ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ ได้อธิบายถึงวิธีการที่ทางศูนย์ฯ ใช้ว่า ทางห้างใช้วิธีการแชร์โค้ดลับภายในซึ่งรู้กันทั้งหมดในการพูดคุยกัน ตนรู้เรื่องอีกทีคือมีกลุ่มควันลอยมาจากทางศูนย์อาหารฟู้ดเวิลด์ และเริ่มมีประชาชนวิ่งหนีมาจากทางดังกล่าว พนักงานทั้งหมดจึงได้เริ่มทำหน้าที่อพยพคนออกจากห้างให้เร็วที่สุด[23]

ทั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนาได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์มีวงเงินประกันภัยคุ้มครองในกรณีความเสี่ยงภัยทุกกรณี (Industrial All Risk Insurance) รวมถึงยังมีประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก และประกันภัยความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาจะประเมินความเสียหายและแจ้งให้บริษัทประกันภัยรับทราบต่อไป

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เซ็นทรัลเวิลด์ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/832182 http://www.centarahotelsresorts.com/cgcw/cgcw_defa... http://www.forbes.com/2007/01/09/malls-worlds-larg... http://maps.google.com/maps?ll=13.746534,100.53922... http://cpn.listedcompany.com/newsroom/110420190856... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7465... http://www.ryt9.com/s/prg/229990 http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://archive.is/P0zav