ประวัติ ของ เซ้นส์_เอนเตอร์เทนเมนท์

เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ วราวุธ เจนธนากุล และ รุ่งธรรม พุ่มสีนิล ซึ่งในช่วงก่อนก่อตั้งบริษัทฯ นั้น รุ่งธรรมกำลังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ได้ชักชวนวราวุธ ซึ่งในช่วงนั้นกำลังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยประธานกรรมการ บริษัท ทรูวิชันส์ จำกัด (มหาชน) ให้มาเป็นพิธีกรรายการ "ตู้ซ่อนเงิน" และ "เก่งยกห้อง" ที่รุ่งธรรมรับผิดชอบในการผลิตรายการอยู่ ในช่วงนั้นวราวุธได้เรียนรู้และสนใจวิธีการทำงานของการผลิตรายการโทรทัศน์ในขั้นเบื้องต้น ซึ่งหลังจากรุ่งธรรมลาออกจากบริษัทเวิร์คพอยท์ฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 วราวุธจึงได้ตกลงกันว่าอยากจะเปิดบริษัทที่เป็นของพวกเขาทั้งคู่เอง เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ มุ่งมั่นจะเป็นผู้ผลิตแนวหน้า ที่สร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้ชม ด้วยการมุ่งผลิตสิ่งที่ดี ๆ แก่สังคม ไม่สร้างปัญหาในแง่มุมมืดหรือคำถามจากสังคม[2][3] ภายหลังรุ่งธรรมได้ขอแยกตัวออกไปก่อตั้งบริษัท มีมิติ จำกัด ซึ่งได้ร่วมทุนในการก่อตั้งร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

เมื่อเริ่มแรกทางบริษัทฯ ใช้สำนักงานบริเวณซอยพัฒนาการ 56 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง หลังจากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ทางบริษัทฯ ย้ายสำนักงานไปที่ซอยวิภาวดีรังสิต 20 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2557 ย้ายสำนักงานมาที่ซอยสหการประมูล ถนนประชาอุทิศ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างสำนักงานและสตูดิโอ 3 สตูดิโอ มูลค่า 200 ล้านบาท[4]

บริษัทเริ่มทำการผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์ นั่นคือรายการ "ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นรายการแรกภายในปี พ.ศ. 2553[5] ต่อมาได้ขยายรูปแบบการผลิตรายการโทรทัศน์ และละครโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ ในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายสถานี เพื่อนำเสนอออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี โดยมีเนื้อหาและรูปแบบรายการที่หลากหลาย เช่น เกมโชว์, ควิซโชว์, เรียลลิตี้โชว์, เกมโชว์สำหรับเด็กและเยาวชน, ทอล์คโชว์, วาไรตี้โชว์, ละครโทรทัศน์ และละครซิทคอม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมทุกเพศทุกวัย[4] และยังได้รับรางวัลในหลากหลายสาขาในประเทศ รวมทั้งเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลและได้รับรางวัลต่าง ๆ จากสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เช่น รางวัลเมขลา, รางวัลโทรทัศน์ทองคำ และรางวัลโทรทัศน์แห่งเอเชีย (เอเชียนเทเลวิชั่นอวอร์ดส์) อีกด้วย[6]

ในช่วงปี พ.ศ. 2558 ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาการดำเนินธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบธุรกิจโชว์บิซ รับจ้างผลิตอีเวนต์, รายการทีวีและการบริหารสื่อ โดยยังคงตอกย้ำความเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำรูปแบบรายการ (ฟอร์แมต) จากต่างประเทศ มาประยุกต์และปรับให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย ที่ชอบสนุกสนาน ตื่นเต้น และไม่ซับซ้อน รวมถึงการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นลูกค้าของทางบริษัทฯ โดยไม่จำกัดอยู่แค่รายการเกมโชว์หรือรายการวาไรตี้โชว์เท่านั้น โดยรูปแบบในการผลิตรายการของบริษัทฯ มีทั้งรับจ้างผลิตและไทม์แชริ่ง หรือการแบ่งรายได้โฆษณาระหว่างสถานีกับผู้ผลิตรายการ ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีแผนพัฒนารูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ ของบริษัทฯ เพื่อนำไปขายยังตลาดคอนเทนต์ของต่างประเทศอีกด้วย [7] และก่อตั้งบริษัท พอลกาดอท เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (อังกฤษ: Polkadot Entertainment Company Limited) เพื่อรับจ้างผลิตรายการให้ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลหมายเลข 33 โดยเฉพาะ

อนึ่ง ในปีเดียวกันนั้น เป็นปีแรกที่ทางบริษัทฯ ได้ผลิตละครโทรทัศน์เรื่องยาวเป็นเรื่องแรก นั้นคือเรื่อง "รหัสปริศนา Code Hunter" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยละครโทรทัศน์ของทางบริษัทฯ จะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านั้นทางบริษัทฯ ได้ผลิตละครซิตคอมเป็นเรื่องแรก ในปี พ.ศ. 2556 นั้นคือเรื่อง "เณรจ๋า" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่นเดียวกัน โดยมี "ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์" ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง มากำกับละครซิตคอมเรื่องนี้[7][8]

ในปี พ.ศ. 2561 ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทางผู้ผลิตรายการชั้นนำระดับนานาชาติ ในการพัฒนาและผลิตรายการใหม่ ๆ หลากหลายรูปแบบ ทั้งรายการโทรทัศน์ที่คิดค้นแล้วผลิตขึ้นเอง และชื้อลิขสิทธิ์รูปแบบรายการโทรทัศน์ชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อความสนุกและความสุขของผู้ชมทั่วประเทศ ซึ่งสามารถรับชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์ชั้นนำในประเทศ อีกทั้งยังส่งรูปแบบรายการที่คิดค้นแล้วผลิตขึ้นเองส่งจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย[1]

ในปี พ.ศ. 2563 ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับอีเลฟเว่นสปอร์ตส บริษัทเกี่ยวกับสื่อกีฬาจากสหราชอาณาจักร เข้าประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และชนะการประมูลที่มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท โดยเซ็นสัญญายาวถึง 8 ปี ครอบคลุมทั้งการถ่ายทอดฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุดทุกรุ่นอายุ ทั้งฟุตบอลชายและฟุตบอลหญิง, ฟุตซอลทีมชาติไทย ทั้งฟุตซอลชายและฟุตซอลหญิง, ไทยลีก 1, ไทยลีก 2, ไทยลีก 3, ช้าง เอฟเอคัพ, ลีกคัพ, ฟุตซอลไทยแลนด์ลีก ทั้งชายและหญิง, อีสปอร์ต และแฟนตาซีลีก[9] โดยได้เริ่มการถ่ายทอดสดครั้งแรกในไทยลีก ฤดูกาล 2563 ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ใกล้เคียง

เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ เส้นสเปกตรัม เส้นสองสลึง เซนส์ (อัลบั้มโปเตโต้) เส้นสนกลรัก เส้นทางสายไหม เส้นสัมผัสวงกลม เส้นทางสายปลาแดก เส้นทางสายเกลือเก่า เส้นทางสายไหม (สารคดี)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เซ้นส์_เอนเตอร์เทนเมนท์ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.manager.co.th/ibizchannel/ViewNews.aspx... http://www.zense.co.th http://www.zense.co.th/about.html?lang=th https://www.daradaily.com/news/20270/read https://www.facebook.com/zenseentertainment https://www.smmsport.com/reader/article/21544 https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=... https://www.thairath.co.th/content/313411 https://www.thairath.co.th/content/890366