ประวัติ ของ เดอะมอลล์

ตระกูลอัมพุชที่ทำธุรกิจบันเทิงหลายแห่งย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งในขณะนั้นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าอื่นยังไม่ตื่นตัว ได้นำเอาศูนย์รวมความบันเทิงมาเป็นจุดขาย หลังจากเปิดสาขาแรกที่เดอะมอลล์ราชดำริ แต่ก็ต้องปิดตัวไปในปี พ.ศ. 2531 เนื่องจากขาดทุน ไม่มีค่าเช่าห้าง ศุภลักษณ์ อัมพุช วิเคราะห์ปัญหาว่า ปัญหาของเดอะมอลล์ ราชดำริ เกิดจาก มีที่จอดรถไม่ดีและสถานที่ห้างเล็กไป บันไดเลื่อนวางไม่ดี ทางเข้าแคบไป แม้ทางเข้าจะมีคนเข้าออกมากมาย มีโฆษณาที่ดี คอนเซปต์ที่ดี ออกแบบร้านที่ดูดี มีสินค้าดี แต่ก็ขาดทุน[2]

จนมาเปิดเดอะมอลล์สาขาหัวหมาก ซึ่งเป็นย่านชานเมือง เพื่อมุ่งให้แตกต่างจากคู่แข่ง เป็นเดอะมอลล์ 2, 3 และ 4 ต่อมาได้ขยับขยายเปิดห้างสรรพสินค้าย่านฝั่งธนฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า ฝั่งธนบุรียังมีพื้นที่สีเขียวว่างอยู่ทางตะวันตก ขณะนั้นบริเวณนั้นก็ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าอยู่เลยแม้จะเป็นบริเวณที่มีคนอาศัยกันอยู่หนาแน่น[2] จึงเปิดเดอะมอลล์ 5 ท่าพระ ในปี พ.ศ. 2532 เป็นห้างแบบครบวงจร และมีสวนน้ำลอยฟ้าอยู่ชั้นบนสุดของห้าง แต่ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2550 เพราะเจอเสาร้าวและทรุดตัว 5 ต้น และยกเลิกสวนน้ำ มาเป็นโรงหนังและฟิตเนสแทน[3] ต่อด้วยเดอะมอลล์ 6 งามวงศ์วาน ในปี พ.ศ. 2534 และเปิดเดอะมอลล์ 2 สาขาพร้อมกัน คือ เดอะมอลล์ 7 บางแค และ เดอะมอลล์ 8 บางกะปิ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2537 จนมาเปิดสาขาต่างจังหวัดแห่งแรกที่เดอะมอลล์ โคราช จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2543