กบฏโพกผ้าเหลือง ของ เตียวก๊ก

ในปี ค.ศ. 184 เตียวก๊กตั้งตนเองเป็น "ปรมาจารย์" (大賢良師) ขึ้นเป็นผู้นำของกบฏโพกผ้าเหลืองพร้อมกับน้องชายคือเตียวโป้ (張寶) และเตียวเหลียง (張梁) ภายใต้การรณรงค์ที่เรียกว่า "วิถีสวรรค์" หรือ "วิถีสันติ" เตียวก๊กตั้งตนเองเป็น "ขุนพลสวรรค์" (天公將軍) ตั้งเตียวโป้เป็น "ขุนพลแผ่นดิน" (地公將軍) และตั้งเตียวเหลียงเป็น "ขุนพลมนุษย์" (人公將軍) [2] กบฏโพกผ้าเหลืองอ้างตนเป็นผู้นับถือลัทธิเต๋าและก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฮั่น เพื่อตอบสนองต่อการเก็บภาษีอย่างหนัก การฉ้อราษฎร์บังหลวง ภาวะข้าวยากหมากแพง และอุทกภัย ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าพระเจ้าเลนเต้ได้สูญเสียอาณัติแห่งสวรรค์แล้ว

กบฏโพกผ้าเหลืองได้รับชัยชนะเป็นส่วนมากในช่วงเริ่มต้นของการก่อกบฏ แต่ภายหลังกลับไม่สามารถต้านทานกองทัพหลวงของราชวงศ์ฮั่นที่นำโดยโฮจิ๋น โลติด ตั๋งโต๊ะ ฮองฮูสง จูฮี และคนอื่น ๆ ได้ เมื่อเตียวก๊กเสียชีวิต กบฏโพกผ้าเหลืองก็อ่อนแอลงจนในที่สุดก็ถูกปราบปรามและถูกตีกระจัดกระจายไป เตียวโป้ถูกปราบปรามและถูกสังหารโดยกองทัพหลวงที่นำโดยฮองฮูสงและกัวเตี่ยน (郭典) ที่อำเภอเซี่ยชวีหยาง (下曲陽縣 เซี่ยชวีหยางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองจิ้นโจว มณฑลเหอเป่ย์) [3] ส่วนเตียวเหลียงถูกปราบปรามและถูกสังหารโดยกองทัพหลวงที่นำโดยฮองฮูสงที่อำเภอกงจ๋ง (廣宗縣 กว่างจงเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอกว่างจง มณฑลเหอเป่ย์)[4]

กลุ่มใหญ่หลายกลุ่มของกบฏโพกผ้าเหลืองยังคงร่อนเร่ไปทั่วจีนเป็นเวลาอีกหลายปีหลังกบฏถูกปราบปราม ในที่สุดส่วนใหญ่ก็ไปเข้าร่วมเป็นทหารของขุนศึกโจโฉ ซึ่งมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินคล้ายคลึงกับของเตียวก๊ก [5]

ใกล้เคียง