เต่าบิน
เต่าบิน

เต่าบิน

เต่าบิน หรือ เต่าจมูกหมู หรือ เต่าฟลายริเวอร์ (อังกฤษ: Pig-nosed turtle, Fly river turtle) เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carettochelys insculpta ซึ่งเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์ Carettochelyidae และสกุล Carettochelys[3]รูปร่างทั่วไปคล้ายตะพาบ คือ กระดองหลังอ่อนนุ่ม แต่ไม่มีกระดูกในชั้นหนังเหมือนตะพาบ สีกระดองสีเทา ในวัยเล็กจะเป็นสีชมพูและจะค่อย ๆ เข้มขึ้นตามอายุ บริเวณขอบกระดอกเป็นหยักเหมือนเต่า ใต้ท้องสีขาว ขาทั้ง 4 ข้างแผ่แบนเป็นครีบ มีเล็บ แต่เล็บไม่อาจเคลื่อนไหวได้ เมื่อวายน้ำจะไม่เหมือนกับเต่าอื่น ๆ คือ จะใช้ครีบคู่หน้าเป็นตัวว่าย และครีบคู่หลังควบคุมทิศเหมือนหางเสือ คล้ายกับเต่าทะเล[4]มีจมูกยื่นยาวมาและงุ้มหักลงคล้ายหมู จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร น้ำหนัก 55 กิโลกรัมแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำ, ลำคลอง หรือทะเลสาบที่มีความลึกไม่มากนัก ที่เกาะปาปัวนิวกินี และทวีปออสเตรเลียทางตอนเหนือ กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ หรือซากสัตว์ เนื่องจากเป็นเต่าที่มีสายตาไม่ค่อยดี สถานภาพปัจจุบัน ใกล้สูญพันธุ์มากแล้ว เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นเต่าอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันมาก ซึ่งอุปนิสัยของเต่าบินไม่ดุมากนัก เมื่อเทียบกับเต่าหรือตะพาบชนิดอื่น แถมยังเชื่องกับผู้เลี้ยงอีกต่างหาก โดยในที่เลี้ยงสามารถจะเลี้ยงไว้ในน้ำได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องขึ้นบกเหมือนเต่าหรือตะพาบทั่วไป แต่เต่าบินก็สามารถปีนขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกได้ด้วยเช่นกันในปี ค.ศ. 1979 เต่าบินถือเป็นเต่าที่หายากและมีราคาแพงมาก โดยทั่วโลกมีผู้ครอบครองเพียง 5 ตัว ใน 5 ประเทศเท่านั้น ในประเทศไทย มีเพียงตัวเดียวเป็นของ นาวาอากาศโท วิโรจน์ นุตพันธุ์ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวไทยที่มีชื่อเสียง เป็นเต่าตัวผู้ มีราคา 25,000 บาท ซึ่งทาง น.ท.วิโรจน์ ตั้งใจจะหาเต่าตัวเมียมาผสมพันธุ์เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เต่าบินตัวนี้ได้ถูกผู้ขโมยไปและนำไปแกงเป็นอาหารรับประทาน[5] แต่ในปัจจุบัน สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วที่อินโดนีเซีย โดยแม่เต่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 25 ปี โดยวางไข่ในเวลากลางคืน บนสันดอนฝั่งแม่น้ำช่วงฤดูแล้ง เอ็มบริโอที่เจริญเป็นเต่าวัยอ่อนโดยสมบูรณ์แล้วยังคงอยู่ภายในเปลือกไข่จนกระทั่งสันดอนถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนจึงค่อยฟักตัวออกจากไข่[4] [6]