การปฏิบัติ ของ เทศกาลมหาพรต

วันพุธก่อนวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต สัตบุรุษจะรับเถ้าเป็นการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต พิธีเสกและโรยเถ้า ตามปกติจะทำในพิธีมิสซา หลังอ่านพระวรสารและบทเทศน์ ซึ่งให้ความหมายว่า พระวจนะของพระเป็นเจ้าเป็นพลังสำคัญที่ปลุกเร้าจิตใจของคริสตชนให้สำนึกตน กลับใจ และใช้โทษบาปในเทศกาลมหาพรตนี้

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการถ่อมตน ในเทศกาลนี้จึงมีการปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้:[6][3]

  • ตามโบสถ์ต่าง ๆ ในช่วงระหว่างเทศกาลจะจัดดอกไม้น้อยลง เชิงเทียนบนพระแท่นก็จะเปลี่ยนเป็นเชิงเทียนแบบเรียบง่าย ดนตรีจะบรรเลงเบา ๆ
  • เมื่อประกอบพิธีกรรม บาทหลวงจะสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สีม่วง ซึ่งสื่อความหมายถึงการถ่อมตน สำนึกผิด
  • การอดอาหาร
  • มี "กระปุกมหาพรต" ให้ชาวคริสต์อดออมนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้
  • ภาวนาเป็นพิเศษ ทั้งตามโบสถ์และตามบ้านเรือน

ทั้งนี้ในระหว่างเทศกาลชาวคริสต์ควรสำรวมจดจ่อใจอยู่ที่พระเยซู สำนึกว่าตนเป็นคนบาป ตระหนักว่าต้องการให้พระเจ้าช่วยเหลือ กลับใจ สารภาพขอให้พระเจ้าอภัย และสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้าใหม่[5] โดยตระหนักได้จากบทภาวนาของประธานของพิธีก่อนเริ่มเทศกาลที่เน้นย้ำคุณลักษณะดังกล่าว:

ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเริ่มเทศกาลมหาพรต ต่อสู้กับกิเลสด้วยการถือศีลอดอาหาร โปรดประทานความช่วยเหลือให้ข้าพเจ้าทุกคนรู้จักบังคับตนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสามารถต่อต้านความชั่วร้ายฝ่ายวิญญาณด้วยเถิด[3]

เมื่อครบ 40 วันเป็นวันฉลองพระเยซูคืนพระชนม์ เหมือนกับการอดทนลำบากในช่วงเทศกาล แต่เมื่อตอนท้ายจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ (วันปัสกา) เฉกเช่นเดียวกับหลักความเชื่อที่ว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขน ปฏิบัติอย่างต่ำต้อยที่สุด แต่พระองค์จะเสด็จมาใหม่ในพระสิริรุ่งโรจน์

ใกล้เคียง

เทศกาลกินเจ เทศกาลดนตรีพัทยา เทศกาลพ้อต่อ เทศกาลของชาวยิว เทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ เทศกาลดนตรีแจ๊สในประเทศไทย เทศกาลโคมไฟ เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลภาพยนตร์กาน