ประวัติ ของ เทศบาลเมืองท่าข้าม

ท่าข้ามที่จะกล่าวถึงในที่นี่ หมายถึงท้องที่ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในอดีตท่าข้ามเป็นท่าเรือริมแม่น้ำตาปี สำหรับข้ามแม่น้ำ เป็นที่ตั้งด่านชายแดนสำหรับตรวจ ผู้คน และเก็บภาษีอากรระหว่างเมืองไชยา กับท้องที่ลำพูนซึ่งเป็นแขวงขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี ปัจจุบันคือ สะพานจุลจอมเกล้า "ท่าข้าม" เป็นชื่อเรียกอำเภอพุนพินเป็นเวลา 31 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2473-2504

ในอดีตท่าข้ามเคยมีความสำคัญในฐานะชุมทางและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะชุมทาง นอกจากจะเป็นท่าเรือสำหรับข้ามแม่น้ำตาปีแล้ว ยังเป็นสถานที่สำคัญในการเดินทางติดต่อผ่านแม่น้ำตาปีไมว่าจะเดินทางไปทางลำน้ำพุมดวงไปยังคีรีรัฐนิคม พนม ตะกั่วป่า พังงา และภูเก็ต หรือไปตามลำน้ำตาปีไม่ว่าตอนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่งกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2321 หรือตอนที่พม่าตีเมืองนครศรีธรรมราชปี 2328 ต่างก็ใช้เส้นทางเดินทัพผ่านท่าข้ามทั้งสิ้น จึงเป็นจุดที่ทางฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชตั้งด่านตรวจและต้งกองทหารไว้กองหนึ่ง

อำเภอพุนพินเป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแต่อดีต โดย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานตามจดหมายของพ่อค้าชาวอาหรับ และชาวจีนว่า ชาวอินเดียทาง ภาคใต้ได้มาติดต่อค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิแห่งนี้ด้วยเรือสำเภา โดยเดินทางไปยังปากน้ำ คีรีรัฐ (คลองพุมดวง) และที่นั่นได้กลายเป็นเมืองและสถานที่พักสินค้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่าง แม่น้ำตาปีกับแม่น้ำคีรีรัฐ (คลองพุมดวง) มาบรรจบกัน ซึ่งเมืองดังกล่าวนี้ในปัจจุบันคือ ชุมชนเมืองพุนพิน หลังจากมีการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งอำเภอพุนพินขึ้นใน พ.ศ. 2439 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลท่าข้าม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอท่าข้าม" ในปี พ.ศ. 2473 ทางราชการได้สั่งยุบอำเภอท่าโรงช้างมารวมกับ อำเภอท่าข้ามด้วย จนถึงปี พ.ศ. 2481 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าข้ามอีกครั้งหนึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาสร้างใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนจุลจอมเกล้า หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม

เทศบาลเมืองท่าข้าม ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นเทศบาลตำบลท่าข้าม เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 59 วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 เปิดทำการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2529 โดยใช้อาคารห้องประชุมสุขาภิบาลท่าข้ามเป็นสำนักงานชั่วคราว นายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีขณะนั้น เป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2529

ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลท่าข้ามเป็นเทศบาลเมืองท่าข้าม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 119 ก ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ส่งผลให้การเลือกตั้งของเทศบาลต่อไป จะต้องเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2543)

ใกล้เคียง

เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครในประเทศไทย เทศบาลเมืองปากพูน เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลนครอุดรธานี