ประวัติ ของ เทอราพิวเท

ทะเลสาบมาเรโอติสในปัจจุบัน

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทไปยังดินแดนในแถบซีเรีย อียิปต์ และกรีก เมื่อราว 2 หรือ 3 ก่อนคริสต์ศักราช[11] ทั้งนี้คำสอน วัตรปฏิบัติ และสังคมนักบวช อาจเป็นหลักพื้นฐานแก่ศาสนาคริสต์ด้วย[13] เพราะมีบันทึกถึงกลุ่มนักบวชจากศาสนาพุทธไว้ว่า มีกลุ่มคนโกนศีรษะ ห่มผ้าคลุม เดินทางด้วยเรือมาเป็นหมู่คณะยังเมืองอะเล็กซานเดรีย แล้วมาจัดตั้งชุมชนคล้ายกับที่พวกเราเรียกว่า "วัด" มีกำแพงล้อมรอบ ถือศีลพรหมจรรย์ มีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านกายและใจ[11]

ศาสนาพุทธเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวกรีกมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสือ สโตรมาตา เล่ม 1 บทที่ 16 ของนักบุญคลีเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย ซึ่งเขียนถึงพระพุทธเจ้าไว้ว่า "บรรดานักปราชญ์ชาวอินเดียมีผู้ที่ปฏิบัติตนตามคำสอนของพุทธะ ผู้ทรงคุณเหนือมนุษย์ ซึ่งได้รับการเคารพนับถือดุจพระเป็นเจ้า" (εἰσὶ δὲ τῶν Ἰνδῶν οἱ τοῖς Βούττα πειθόμενοι παραγγέλμασιν. ὃν δι’ ὑπερβολὴν σεμνότητος ὡς θεὸν)[14] ใน ค.ศ. 2023 มีคนค้นพบพระพุทธรูปยืน สูง 71 เซนติเมตร แกะสลักจากหินอ่อนแถบอิสตันบูล มีพุทธศิลป์แบบกรีกและยังคล้ายกับศิลปะคันธารราฐ แต่บริเวณด้านขวาของพระพุทธรูปแตกหักไปอย่างน่าเสียดาย[15] สร้างเมื่อราว ค.ศ. 90 ถึง 140 ในวิหารของเทวีไอซิส เมืองเบเรนีกี ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิโรมัน[16] สันนิษฐานแกะสลักโดยช่างท้องถิ่น เพื่ออุทิศถวายแก่วิหารโดยกลุ่มพ่อค้าผู้มั่งมี[17]

จากหนังสือ De vita contemplativa ("ว่าด้วยชีวิตแห่งการเพ่งพินิจ") ซึ่งเขียนโดยไฟโลแห่งอะเล็กซานเดรีย นักปรัชญาชาวยิว เมื่อคริสต์ศักราชที่ 1 เขาไม่ทราบที่มาของคำว่า เทอราพิวเท อย่างชัดเจน ไม่แน่ใจว่า "ผู้รักษาด้านจิตวิญญาณ" หรือแปลว่า "ผู้ถวายการรับใช้พระเป็นเจ้า" กันแน่ พวกเทอราพิวเทเป็นนักบวชฝ่ายเพ่งพินิจและอาศัยอยู่ในเขตทะเลทราย และยังระบุว่ามีพวกเทอราพิวเทอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ชาวกรีกและพวกอนารยชนทั้งหลาย โดยมีจุดศูนย์กลางสำคัญอยู่ริมทะเลสาบมาเรโอติส ความว่า

"...ปัจจุบันสามารถพบคนเหล่านี้ได้ในหลาย ๆ ที่ เพราะสมควรแล้วที่ทั้งดินแดนกรีซและบ้านป่าเมืองเถื่อนทั้งหลายจะได้รับความดีอย่างสมบูรณ์พร้อม ในอียิปต์มีศาสนิกชนกลุ่มนี้อยู่มากที่สุด พบได้ทุกเมือง ทุกหนแห่ง โดยเฉพาะเมืองอะเล็กซานเดรีย คนจากทั่วทุกสารทิศที่มีความสามารถในการบำบัดอย่างเอกอุมุ่งแสวงบุญยังทะเลสาบมาเรโอติส ประหนึ่งว่าเป็นประเทศของพวกเขาก็มิปาน..."[18]

ไฟโลแห่งอะเล็กซานเดรีย

ก่อนจะเข้าร่วมคณะนักพรตกลุ่มนี้ จะถือว่าตนเองนั้นตายไปจากทางโลกแล้ว ต้องมอบทรัพย์สินทั้งหลายแก่ทายาทโดยสมัครใจ ถือเพศพรหมจรรย์ สวมเครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอต่อการป้องกันความหนาวร้อน และเว้นจากสุราเมรัย นักพรตเทอราพิวเทอุทิศตนไปกับการเพ่งพินิจ โดยตลอดทั้งหกในวันหนึ่งสัปดาห์ จะมีการบำเพ็ญตบะ ถือศีลอด สวดอ้อนวอนเพียงลำพัง ศึกษาพระคัมภีร์ในกระท่อมขนาดน้อยห้องใครห้องมัน ในแต่ละกระท่อมจะมีแท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ และมีลานกว้างสำหรับทำกิจกรรม โดยที่ไฟโลเขียนไว้ มีเนื้อหาว่า

"...พวกเขาบริหารจิตตั้งแต่อุษาสางกระทั่งจรดเย็น พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใช้ความคิดเพื่อเปรียบเทียบปรัชญาของบรรพชนออกมา พวกเขามองว่าความหมายตามตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติภายในที่ซ่อนเร้น ซึ่งจะปรากฏในแนวคิดที่แฝงอยู่..."

โดยทุก ๆ วันที่เจ็ดถือเป็นวันสะบาโต นักพรตเทอราพิวเทจะมารวมตัวกัน โดยแยกฝั่งชายหญิงออกจากกัน ทั้งหมดจะนั่งอย่างเรียบร้อยเพื่อฟังธรรมเทศนาจากนักพรตอาวุโส และร่วมสวดหรือขับร้องเพลงบูชาทางศาสนาซ้ำ ๆ จนกระทั่งรุ่งสาง นอกจากนี้พวกเขาไม่มีทาสในการครอบครอง เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน ดังนั้นการมีทาสจึงถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

หนังสือพันธสัญญาของโยบ ถูกมองว่าอาจนำมาจากข้อความของเทอราพิวเท[19][20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เทอราพิวเท http://historyofbuddhism-mbu-watkomet.blogspot.com... http://www.earlychristianwritings.com/text/clement... http://www.earlychristianwritings.com/yonge/book34... http://www.jewishencyclopedia.com/view.jsp?artid=2... http://perseus.mpiwg-berlin.mpg.de/cgi-bin/ptext?l... http://www.fordham.edu/halsall/ancient/philo-ascet... http://www.orthodoxresearchinstitute.org/articles/... https://www.bbc.com/thai/articles/cw45e993l75o https://www.kanlayanatam.com/book/podhiyalai_28.pd... https://ngthai.com/history/48517/buddha-berenike/