เนียมหูเสือ
เนียมหูเสือ

เนียมหูเสือ

เนียมหูเสือ หรือ หูเสือ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Plectranthus amboinicus) เป็นพืชในสกุลหูเสือ ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 0.3–1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเมื่อต้นแก่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ขนาด 2.5–5 × 3–8 เซนติเมตร ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมน ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ ก้านใบยาว 2–4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือยอด ยาวประมาณ 10–20 เซนติเมตร ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกประมาณ 6–8 ดอก ทยอยบานทีละ 1–2 ดอก กลีบดอกสีม่วงขาวมี 5 กลีบ รูปเรือ ยาว 8–12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3–4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้นตั้งตรง กลีบล่างยาวเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2–4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้าง ๆ รูปหอกแคบ ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3–4 เซนติเมตร ปลายแหลม ผลเล็กกลมแป้นเป็นแบบมีเปลือกแข็ง สีน้ำตาลอ่อน ขนาดประมาณ 0.5–0.7 มิลลิเมตร[1]เนียมหูเสือมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก คาบสมุทรอาหรับ และอินเดีย[2] นิยมปลูกเป็นไม้คลุมดินหรือไม้กระถางเพื่อประดับ[3] น้ำมันหอมระเหยที่พบมากในใบเนียมหูเสือได้แก่ คาร์วาครอล (28.65%) ไทมอล (21.66%) และฮิวมูลีน (9.67%)[4] ใบและต้นมีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน ใช้ดับกลิ่นปาก ช่วยให้เจริญอาหาร และแก้คัดจมูก[1]