การเจริญ ของ เนื้อเยื่อคัพภะ

แกสตรูเลชันของไดโพลบลาสต์ (Gastrulation of a diploblast) : การสร้าง germ layer จาก (1) บลาสตูลา ไปเป็น (2) แกสตรูตา เซลล์ชั้นเอ็กโทเดิร์มบางส่วน (สีส้ม) เจริญเข้าไปด้านในเจริญไปเป็นเอนโดเดิร์ม (สีแดง)

การปฏิสนธิระหว่างอสุจิและเซลล์ไข่นำไปสู่การสร้างไซโกต ในระยะต่อมาคือระยะคลีเวจ (cleavage) เซลล์จะแบ่งตัวแบบไมโทซิสเปลี่ยนไซโกตให้เป็นกลุ่มเซลล์ที่มีรูปร่างเหมือนลูกบอล เรียกว่า บลาสตูลา (blastula) ซึ่งจะพัฒนาต่อผ่านกระบวนการแกสตรูเลชัน (gastrulation) เป็นแกสตรูลา (gastrula) ซึ่งประกอบด้วยชั้นของเซลล์ 2-3 ชั้น ในสัตว์มีกระดูกสันหลังเซลล์เหล่านี้จะพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย

ในมนุษย์ เมื่ออายุประมาณ 3 วัน ไซโกตจะสร้างกลุ่มก้อนเซลล์ตันจากการแบ่งตัวแบบไมโทซิส เรียกว่า มอรูลา (morula) ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ประกอบด้วยชั้นนอกที่เรียกว่า โทรโฟบลาสต์ (trophoblast) และกลุ่มเซลล์ชั้นในเรียกว่า เอ็มบริโอบลาสต์ (embryoblast) บลาสโตซิสต์ที่เต็มไปด้วยของเหลวจากมดลูกจะแตกออกจาก zona pellucida เพื่อเกิดการฝังตัว (implantation) กลุ่มเซลล์ชั้นในซึ่งแรกเริ่มจะมี 2 ชั้นคือไฮโปบลาสต์ (hypoblast) และอีพิบลาสต์ (epiblast) เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 2 จะเริ่มเกิดร่องเรียกว่า primitive streak อีพิบลาสต์ในบริเวณนี้จะเคลื่อนที่เข้าไปหา primitive streak แล้วมุดลงไปด้านล่างเกิดเป็นชั้นเนื้อเยื่อใหม่เรียกว่า เอนโดเดิร์ม แทนที่ไฮโปบลาสต์ อีพิบลาสต์จะยังคงเคลื่อนที่เข้าไปเรื่อยๆ และสร้างเป็นชั้นที่สองเรียกว่าเมโซเดิร์ม และชั้นบนสุดที่ยังคงอยู่เป็นเอ็กโทเดิร์ม