ประวัติความเป็นมาของกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ ของ เนเธอร์แลนด์ดวอฟ

เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1880 หรือราว พ.ศ. 2423 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ปรากฏว่ามีกระต่ายสายพันธุ์ดัทช์ได้ให้กำเนิดลูกหลากหลายครอกที่มี สีขาวแต่มีลายสีต่างๆ ไม่เป็นสีขาวทั้งตัว มีตาสีแดง มีลักษณะลำตัวที่เล็ก สั้นกะทัดรัด มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.6 ถึง 2 กิโลกรัม แต่มีขนที่นุ่มลื่นสวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของกระต่ายโปลิช (Polish) แม้ว่ากระต่ายที่ได้จะยังมีเลือดที่ไม่นิ่ง แต่การผสมแบบในสายเลือด (Line Breeding) เช่น พ่อผสมลูกสาว แม่ผสมลูกชาย ทำให้ได้กระต่ายในรุ่นต่อมาที่มีสีขาวมากขึ้น จนกระทั่งได้กระต่ายสีขาวล้วน ตาสีทับทิม (Ruby-Eyed White) ที่เป็นต้นกำเนิดของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ในปัจจุบันด้วยแรงบันดาลใจจากการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์โปลิช มายังสหราชอาณาจักรอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1884 หรือ พ.ศ. 2427 กระต่ายพันธุ์โปลิชจากประเทศเยอรมนี ได้ถูกนำมาผสมข้ามพันธุ์กับกระต่ายป่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กโดยบังเอิญ จนทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนส์แคระลงในกระต่ายพันธุ์โปลิช ทำให้มีขนาดเล็กและมีลำตัวที่สั้นลง ในเวลานั้นกระต่ายแคระ จึงมีแต่สีขาวล้วนและมีตาสีทับทิม

ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระต่ายแคระ สีขาวตาฟ้า (Blue-Eyed White) ได้ถือกำเนิดขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน แต่ลักษณะของกระต่ายแคระสีขาวตาฟ้าในขณะนั้นจะมีโครงสร้างกระดูกที่ใหญ่ ลำตัวที่ยาวกว่า ขนหยาบและสั้นกว่าของขาวตาทับทิม จนกระทั่งถึงช่วง ปลายทศวรรษปี 1930 หรือราว พ.ศ. 2480-2483 กระต่ายแคระที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในขณะนั้น จึงมีเพียงแค่ 2 ประเภทสีเท่านั้น คือ ขาวตาทับทิม และ ขาวตาฟ้า

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 ถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย และในปี ค.ศ. 1969 หรือ พ.ศ. 2512 กระต่ายสายพันธุ์นี้ ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับจากสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดของรายละเอียดมาตรฐานสายพันธุ์จากของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักรเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

สำหรับในประเทศไทย เมื่อปลายปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ได้มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้คุณภาพระดับประกวดจากสหรัฐอเมริกาสำหรับสมาชิก ชมรมคนรักกระต่ายแห่งประเทศไทย สีที่นำเข้ามาในขณะนั้น คือสีขาวตาฟ้า สีดำสร้อยทอง (Black Otter) และสีดำสร้อยเงิน (Black Silver Marten) และในปีต่อมา ก็ได้มีการนำเข้า สีต่างๆ ที่แปลกและสวยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สีศุภลักษณ์หรือสีทองแดง (Siamese Sable) สีควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl) สีฮิมาลายัน (Himalayan) และสีที่หายาก อย่างสีวิเชียรมาศ (Sable Point) หรืออย่าง สีพื้นเช่น สีดำ สีบลู (Blue) สีชอกโกแลต ทำให้ในขณะนี้ ประเทศของเราก็มีกระต่ายสายพันธุ์นี้ในประเภทสีต่างๆ มากมาย ดังที่ได้เห็นกันแล้วตามงานประกวดต่างๆ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้จากประเทศต้นกำเนิดคือ เนเธอร์แลนด์ ความแตกต่างหลักๆของกระต่ายจากสหรัฐอเมริกาและจากเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพ อันได้แก่ น้ำหนัก หุ่น รูปทรง หัว กะโหลก และลำตัว ระบบเพดดีกรีและการจดทะเบียนของสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ามีระบบที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งดีกว่าของกระต่ายทางเนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนที่มีระบบ จึงทำให้กระต่ายจากทางสหรัฐอเมริกามีคุณภาพและราคาที่สูงกว่า

ใกล้เคียง

เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส เนเธอร์แลนด์ของสเปน เนเธอร์แลนด์ใต้ เนเธอร์แลนด์ของบูร์กอญ เนเธอร์แลนด์ดวอฟ เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสในโอลิมปิก เนเธอร์แลนด์ของฮาพส์บวร์ค เนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสในโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2010 เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิสในโอลิมปิก