การใช้ในประวัติศาสตร์ ของ เบญจาคริสต์

ในยุคกลาง “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” เป็นผ้าที่ขึงกางเหนือผู้มีตำแหน่งสูงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของผู้นั้น ที่นั่งภายใต้ผ้าที่แขวนไว้ก็มักจะตั้งบนแท่น การจัดระดับของ “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้ที่อยู่ภายใต้ผ้าขึงนั้น ผู้ที่ใช้ “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” อาจจะเป็นพระมหากษัตริย์, ดยุก หรือสังฆราช

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 หนังสือวิจิตรแสดงภาพแกรนด์มาสเตอร์ผู้เป็นประมุขของลัทธิอัศวินเซนต์จอห์นที่โรดส์นั่งภายใต้เบญจาบนแท่นเพื่อรับหนังสือจากผู้ประพันธ์ ที่นั่งตั้งอยู่บนแท่นที่ปูด้วยพรม ด้านหลังตกแต่งด้วยพรมทอที่งดงาม เท้ารองด้วยเบาะ บางครั้งพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงได้รับการกั้นด้วย “กลดผ้าสี่เสา” ที่ถือโดยขุนนางระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือในพระราชพิธีสำคัญ ๆ

เลดี้มาร์กาเร็ต โบฟอร์ทพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษทรงเป็นผู้มีความสำคัญที่เห็นได้จากภาพเหมือนที่เขียนโดยจิตรกรนิรนามในปี ค.ศ. 1500 ภาพนี้เป็นภาพขณะที่มาร์กาเร็ตกำลังสวดมนต์อยู่ภายใต้เบญจาที่แขวนเหนือพระเศียรที่มีตราดอกกุหลาบทิวดอร์ ส่วนที่ห้อยไปทางด้านหลังที่มีตราอาร์มประจำพระองค์ทอฝังในเนื้อผ้า

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1520 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสและสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษทรงพบปะกันในโอกาสพิเศษที่เรียกว่า “การพบปะที่ทุ่งทอง” (Field of Cloth of Gold) ที่เป็นโอกาสที่ทั้งสองพระองค์ใช้ในการแสดงความมีพระบรมราชานุภาพกันอย่างเต็มที่ ทุกอย่างที่ปรากฏในกระบวนการและพระราชพิธีมาจากการวางแผนอย่างละเอียดละออ แคเธอรีนแห่งอารากอนประทับภายใต้เบญจาที่ปักด้วยไข่มุกดูพระสวามีทรงประลองทวนบนหลังม้ากับพระเจ้าฟรองซัวส์

ในจุดสุดยอดของรัชสมัยอันสั้นของเลดี้เจน เกรย์ เกิดขึ้นเมื่อเฮนรี เกรย์ ดยุกแห่งซัฟโฟล์คที่ 1 (Henry Grey, 1st Duke of Suffolk) พ่อของของเลดี้เจนพยายามเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษที่ไปยกลูกของตนเองเป็นพระมหากษัตรีย์ โดยการรีบกลับมาทึ้งเบญจาของเลดี้เจนทิ้งและประกาศว่าเลดี้เจนมิได้เป็นพระราชินีอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ไปลงนามในประกาศที่เป็นผลทำให้แมรี ทิวดอร์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ

เบญจายังคงมีให้เห็นในท้องพระโรงพระราชบัลลังก์ (throne room) ในพระราชวังในบางแห่งในยุโรป