การปกครอง ของ เมืองฉอด

เมืองฉอดมีพ่อขุนจันคำเหลือง เป็นหัวหน้า เจ้าแตงอ่อน (เจ้ามุกขวดี) เป็นศรีเมือง (ชายา) ต่อมามีราชบุตร 2 พระองค์ คือ พ่อขุนสามชน กับพ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงษ์ เมื่อพ่อขุนจันคำเหลืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนสามชนราชบุตรองค์ใหญ่ได้สืบราชสมบัติในเมืองฉอดแทนพระราชบิดา ต่อมามีเจ้าแม่มโนราห์เป็นศรีเมือง (ชายา)

พ่อขุนสามชนสืบราชสมบัติต่อมาไม่นานนัก ก็ทรงเริ่มกระทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขต และด้วยพ่อขุนสามชนเป็นขุนศึกเชี่ยวชาญเชิงยุทธ ในการสงครามอยู่มากทั้งน้ำพระทัย ก็ทรงมีความโอบอ้อมอารีย์ รักไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เอาใจใส่ดูแลขุนนาง ข้าราชการในเมืองฉอดแบบพ่อกับลูก ไพร่ฟ้าจึงรักใคร่นับถือยำเกรงท่านมาก ยิ่งกว่านั้น พอถึงวันธรรมสวนะ ก็ทรงสั่งสอนในเรื่องของธรรมแก่ราษฎรมิได้ขาด ยังปรากฏพระแท่นอาสนะ และพระพุทธรูปอยู่ทุกวันนี้

พ่อขุนสามชนได้ขยายอาณาเขต ออกไปจนกว้างใหญ่ไม่น้อย คือ ขยายออกมาทางบ้านแม่ตื่นสามหมื่น ซึ่งเป็นเมืองที่ท่านอยู่อาศัย ลงมาทางแม่ระมาด บ้านพะหน่อเก (วัดดอนแก้ว ในแม่สอดปัจจุบัน) เลยไปถึงบ้านแม่โกนเกน ผาลู เมืองเก่าของท่าน ยังมีเจดีย์เก่า ๆ อยู่ในป่า ไกลจากแม่ระมาดไปทางแม่ตื่นสามหมื่น ประมาณ 2 กิโลเมตร แผ่นดินใหญ่ปรากฏ และทางวัดแม่ต้านก็รักษาไว้จนถึงทุกวันนี้