เมืองพระนคร
เมืองพระนคร

เมืองพระนคร

พระนคร หรือชื่อในภาษาเขมรปัจจุบันเรียก อังกอร์ (เขมร: អង្គរ องฺคร; อังกฤษ: Angkor; จากภาษาสันสกฤต นคร nagara)[1] เป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของจักรวรรดิเขมร มีชื่อดั้งเดิมตามจารึกว่า ศรียโศธรปุระ (ស្រីយសោធរបុរៈ สฺรียโสธรบุระ̤) มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทพนมบาแคง (ប្រាសាទភ្នំបាខែង บฺราสาทภฺนํบาแขง) ปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบ (ខេត្សៀមរាប เขตฺเสียมราบ) ของประเทศกัมพูชา ภายหลังย้ายศูนย์กลางไปยังปราสาทบายน (ប្រាសាទបាយ័ន บฺราสาทบายัน) ในพื้นที่ที่เรียกว่า "นครธม" (អង្គរធំ องฺครธํ; "นครใหญ่") ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบเช่นกันและทับซ้อนกับพื้นที่ศรียโศธรปุระเดิมช่วงเวลาในประวัติศาสตร์กัมพูชาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ ณ เมืองพระนครนี้เรียกว่า สมัยพระนคร (Angkorian period) เริ่มในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 (យសោវរ្ម័នទី១ ยโสวรฺมันที ๑) ทรงสถาปนาศรียโศธรปุระขึ้น แต่นักวิชาการบางคนก็นับช่วงก่อนหน้านี้เข้าด้วย คือ ตั้งแต่ ค.ศ. 802 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9) เมื่อพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 (ជ័យវរ្ម័នទី២ ชัยวรฺมันที ๒) ทรงรับการอภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพนมกุเลน (ភ្នំគូលេន ภฺนํคูเลน; "ภูเขาลิ้นจี่") และทรงสถาปนาเมืองหลวงแห่งแรกขึ้น คือ หริหราลัย (ហរិហរាល័យ) ดำเนินมาจนกระทั่งเจ้าพระยาญาติ (ចៅពញាយ៉ាត เจาพญาย̎าต) ทรงละทิ้งนครธมไปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นอันสิ้นสุดสมัยพระนคร ช่วงเวลาหลังจากนี้เรียกว่า สมัยหลังพระนคร (post-Angkorian period) ส่วนก่อนหน้าเรียกว่า สมัยก่อนพระนคร (pre-Angkorian period) อันเป็นช่วงที่ประกอบด้วยรัฐน้อยใหญ่ต่าง ๆ เช่น ฟูนัน และเจนละเวลาผ่านไป เมืองพระนครกลายเป็นซากปรักหักพังอยู่ในป่ารก ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบเขมร (ទន្លេសាប ทนฺเลสาบ) และตอนใต้ของพนมกุเลน ใกล้กับกรุงเสียมเรียบ (ក្រុងសៀមរាប กฺรุงเสียมราบ) เมืองเอกของเขตเสียมเรียบ โบราณสถานพระนครมีศาสนสถานกว่าหนึ่งพันแห่ง ถือเป็นอนุสรณ์สถานทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในจำนวนนี้รวมถึงนครวัด (អង្គរវត្ องฺครวตฺ) ที่พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (សូរ្យវរ្ម័នទី២ สูรฺยวรฺมันที ๒) ทรงสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ศาสนสถานหลายแห่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และนับเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในทางสถาปัตยกรรมเขมร ได้รับความคุ้มครองในฐานะแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) แต่ละปีมีผู้เยี่ยมชมราวสองล้านคน แต่ความนิยมนี้เองทำให้เกิดข้อยากหลายประการในการอนุรักษ์ใน ค.ศ. 2007 คณะนักวิจัยระหว่างประเทศใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและวิทยาการสมัยใหม่แขนงอื่น ๆ จนได้ข้อสรุปว่า เมืองพระนครเคยเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม มีระบบโครงสร้างพื้นฐานอันสลับซับซ้อนซึ่งเชื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของเมืองเข้ากับศาสนสถานทั้งหลาย รวมแล้วเป็นพื้นที่อย่างน้อย 1,000 ตารางกิโลเมตร[2] นอกจากนี้ เมืองพระนครยังนับเป็นนครไฮดรอลิก (hydraulic city) เพราะมีเครือข่ายบริหารจัดการน้ำที่ซับซ้อนสำหรับเก็บและกระจายน้ำอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่[3] ระบบน้ำนี้ยังเชื่อว่า ใช้สำหรับชลประทาน ใช้เตรียมรับมือฤดูแล้งที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือการคาดการณ์ และใช้สนับสนุนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ[2] แม้จำนวนประชากรที่แน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ระบบทางเกษตรกรรมที่ค้นพบใหม่ในพื้นที่นี้นำไปสู่สมมุติฐานว่า อาจมีมนุษย์อาศัยอยู่ถึงหนึ่งล้านคน คิดเป็นอย่างน้อย 0.1% ของประชากรทั่วโลกในช่วง ค.ศ. 1010–1220 ทำให้เมืองพระนครถือเป็นอภินคร (megacity) อีกด้วย[4]

เมืองพระนคร

รูปแบบสถาปัตยกรรม แบบบาแคง, แปรรูป, บันทายศรี, นครวัด, บายน, และยุคหลังบายน
ภูมิภาค อุษาคเนย์
ผู้สร้าง ยโศวรรมันที่ 1
สภาพ หักพัง และมีการบูรณะ
การเปิดให้เข้าชม ต่างชาติใช้ตั๋ว
ละทิ้ง คริสต์ศตวรรษที่ 15
สมัย ยุคกลาง
ชื่ออื่น ศรียโศธรปุระ
สร้าง ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9
ผู้บริหารจัดการ อาชญาธรอัปสรา