การขุดแต่งทางโบราณคดี ของ เมืองโบราณดงละคร

ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในบริเวณเมืองโบราณดงละคร

หลังจากเมืองดงละครโบราณได้ล่มสลายไป ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ โดยมากมีอาชีพทำการเกษตร ซึ่งระหว่างทำการเกษตรมีการขุดดิน ชาวบ้านก็ได้ขุดพบของโบราณเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2515ได้มีการขุดแต่งเมืองโบราณดงละครอย่างเป็นทางการโดยนักวิชาการ โดยนายพิสิฐ เจริญวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นได้ดำเนินการขุดแต่งและอนุรักษ์เมืองนี้มาเป็นลำดับ และได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของผู้คนในยุคพุทธศตวรรษที่ 13-15 เช่น พระพิมพ์เนื้อเงิน ศิลปะแบบทวาราวดี เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบสีน้ำตาล เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังและซ้อง รวมทั้งลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดแบบลูกตา (eye beads) ลูกปัดสลับสี (mosaic beads) ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และอะเกต

ภาชนะดินเผาบางชิ้น มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นไว้ว่าเป็นของเปอร์เซีย ลักษณะเป็นเครื่องเคลีอบสีฟ้าอ่อน คาดว่ามาจากเมืองชีราฟของอิหร่าน และเมืองบาสราของอิรัก ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลักษณะเดียวกันนี้เคยพบที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงให้เห็นว่า เมืองดงละครน่าจเป็นทางผ่านของการค้าจากทางภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุทำจากควอตซ์ ซึ่งมีแหล่งแร่ควอตซ์อยู่บริเวณเขาแก้ว อำเภอบ้านนา ห่างจากดงละครราว 20 กิโลเมตร และพบกำไลสำริด 2 วง คาดว่าจะมาจากเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังพบขวานหินขัดจำนวนมากที่ผลิตจากหินแอนดีไซต์และหินไรโอไลต์ ซึ่งมีแหล่งผลิตที่บ้านห้วยกรวด จังหวัดกระบี่ จึงสันนิษฐานว่าเมืองดงละครน่าจะเป็นทางผ่านในการค้าขายผ่านมาจากทางใต้ก็ได้