การทำงาน ของ เลียง_ไชยกาล

นายเลียงเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงลือลั่นจากการเป็นผู้อภิปราย เรื่องการฉวยโอกาสซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของพรรคคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกรณีร้อนทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนต้องลาออกรวมไปถึงการยุบสภาของคณะรัฐบาลด้วย ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในส่วนตัวนายเลียงเองก็ถูกจดหมายข่มขู่เอาชีวิต และถูกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจับตัวโยนลงสระน้ำหลังอาคารรัฐสภา (พระที่นั่งอนันตสมาคม[7]) ต่อมาได้เข้าสังกัดกับพรรคก้าวหน้า ที่มี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

ในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช นายเลียงได้มีชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาในการสมคบคิดในการสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ที่มีการยุบพรรคก้าวหน้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ นายเลียงก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

นายเลียง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์[8] และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 3 วาระ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ครม.21-ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม.22)[9]และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.26)[10]

หลังคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีผู้ตะโกนในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงว่า ปรีดีฆ่าในหลวง ในเวลาต่อมาผู้ตะโกนถูกจับได้ และซัดทอดนายเลียง ไชยกาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ปราศรัยในกรณีนี้ตามที่ต่าง ๆ อย่างรุนแรง ที่สุดนายเลียงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปคุมขังไว้ในเรือนจำลหุโทษเป็นเวลา 37 วัน[6]

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2491 ที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้แยกจากพรรคไป นายเลียง ไชยกาล ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และได้ก่อตั้งพรรคของตนเองชื่อ พรรคประชาชน มี นายสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นรองหัวหน้าพรรค และ นายประสิทธิ์ ชูพินิจ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งต่อมา นางอรพินท์ ไชยกาล ภรรยาของนายเลียงก็ได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2492 และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนหญิงคนแรกของไทยด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 นายเลียง ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค คือ พรรคประชาชน[11]