ประวัติ ของ เวียงแก้ว

ในอดีตเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงหอคำสมัยพระเจ้ากาวิละ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2339[2] ใช้เป็นคุ้มของพระเจ้าเชียงใหม่ต่อมา ทว่าตามธรรมเนียมล้านนาผู้ที่สามารถประทับบนหอคำได้ ต้องมีสถานภาพเป็นกษัตริย์ล้านนาเท่านั้น แต่เจ้าล้านนาในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยาม ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงรัตนโกสินทร์เสียก่อน ในประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมีพระเจ้าเชียงใหม่เพียง 4 พระองค์ คือ พระเจ้ากาวิละ (เจ้าหลวงองค์ที่ 1) พระเจ้ามโหตรประเทศ (เจ้าหลวงองค์ที่ 5) พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 6) และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 7)

ในสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 4 จึงให้สร้าง "หอเทียม" ทางทิศใต้ของหอคำของพระเจ้ากาวิละ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ครั้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ จึงได้โปรดให้สร้างหอคำประดับเกียรติยศ แทนหอเทียมของเจ้าพุทธวงศ์

ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่บริเวณข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม (โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ทำให้พื้นที่เวียงแก้วที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2339 ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 เป็นต้นมา และมีการรื้อหอคำ ในช่วงปี พ.ศ. 2418 - 2420 อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานว่ายังคงมีการใช้งานอยู่บ้าง อ้างอิงจากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ซึ่งระบุชื่อ "เวียงแก้ว" แต่ไม่มีคำว่า "ร้าง" ต่อท้ายน่าจะหมายถึงว่ายังมีการใช้งานอยู่บ้าง และยังพบว่ามีการจัดงานราชพิธีในปี พ.ศ. 2434[3] อีกด้วย

ในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2448 จึงมีการย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพมาใช้สถานที่ของ "เค้าสนามหลวง" เดิมทีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ มีดำริที่จะยกพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเค้าสนามหลวงด้านทิศใต้ ให้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ แต่ในห้วงเดียวกันเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ขอเวียงแก้วสำหรับสร้าง "คอกหลวง" หรือเรือนจำประจำมณฑลพายัพ แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าเรือนจำถูกสร้างขึ้นในปีใด แต่จากการสันนิษฐานจึงประมาณได้ว่าเรือนอาจถูกสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2459 - 2460[4] ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็น "เรือนจำกลางเชียงใหม่" จนในปี พ.ศ. 2544 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เข้ามาแทนที่จนถึงในปี พ.ศ. 2555 จึงมีการย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว