สถาปัตยกรรม ของ เวียนนาซีเซสชัน

“อาคารทำการของกลุ่มซีเซสชัน”

อาคารที่ทำการของกลุ่มนั้น ทางกลุ่มซีเซสชันได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนมากจากการกู้ยืมธนาคาร การออกแบบและการตกแต่งภายในนั้นเป็นไปแบบช่วยกันคนละไม้คนละมือ แต่ความคิดส่วนใหญ่ทั้งหมดมาจากแนวความคิดของ กุสตาฟ คลิมต์ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มนั้นเอง ลักษณะอาคารจะเป็นโครงสร้างและรูปแบบเหมือนกับสถาปัตยกรรมในยุคกรีกและอียิปต์ ซึ่งเป็นไปตามแนวอิทธิพลทางศิลปะของสมาชิกส่วนมากในกลุ่ม แต่สำหรับแนวทางของคลิมต์นั้น เขาไม่ได้ลอกแบบศิลปะแบบกรีกหรืออียิปต์มาใช้อย่างเต็มตัว แต่เขาได้นำมันมาประยุกต์กับแนวคิดใหม่ของ ‘โมเดิร์น อาร์ต’ (Modern art) หรือ ศิลปะสมัยนิยม ซึ่งในออสเตรียในขณะนั้นนอกจากจะมุ่งสร้างประเทศด้วยศิลปกรรมตามแบบอย่างปารีสแล้ว โมเดิร์น อาร์ต ยังเป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปในผังเมืองที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ด้วยในส่วนที่เรียกว่า ‘ริงสตราสส์’ (Ringstasse) อีกด้วย

ผลงานอาคารในแบบโมเดิร์นอาร์ตที่เป็นตัวอย่างขึ้นชื่อคือผลงานของ ออทโท วากเนอร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายแห่งของริงสตราสส์ในกรุงเวียนนา อาคารที่เห็นได้ชัดก็คืออาคารที่ทำการไปรษณีย์ (Postal Saving Bank) ในเวียนนา แนวการออกแบบนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ โยเซฟ มาเรีย ออลบริช หนึ่งในศิลปินกลุ่มซีเซสชัน โดยเขาได้นำมาประยุกต์กับแนวความคิดรูปแบบเก่าไปสู่รูปแบบใหม่เพื่อใช้ในการออกแบบอาคารซีเซสชันอย่างลงตัว เหนืออาคารนั้นเป็นรูปทรงกลมคล้ายโดมในศิลปะแบบไบแซนไทน์ (Byzantine) การใช้รูปทรงนี้เข้ามาเป็นรูปแบบของอาคาร ทำให้ตัวอาคารมองดูคล้ายกับวิหาร

ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ตกมาเป็นสมบัติของแกลเลอรี เบลเฟเดเรอร์ (Austrain Gallery Belvedere) ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินมากมาย ๆหมุนเวียนกันมาจัดอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงเปิดแสดงผลงาน The Beethoven friezes ของคลิมต์อยู่เสมอ