ถิ่นอาศัยและการล่าเหยื่อ ของ เสือ


เสือเป็นสัตว์ที่หวงถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมากเสือที่มีขนาดใหญ่เมื่อย้ายที่อยู่ชั่วคราวจะแผดเสียงร้องคำรามเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นหรือเสือด้วยกัน เข้าไปอาศัยในป่าหรือถ้ำเดิมของมัน ซึ่งเสือมักจะอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังเพียงตัวเดียว ออกหากินเฉพาะในอาณาเขตหรือถิ่นของมัน และจะคุ้มครองเขตแดนของตนไว้ หากมีการล้ำเขตแดนก็อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากับจนถึงขั้นต่อสู้ เว้นเสียแต่ว่าเสือจ้าวถิ่นจะมีขนาดเล็กกว่า

โดยปกติแล้วเสือจะพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้หรือการเผชิญหน้ากัน โดยจะใช้วิธีการสื่อสารให้เสือตัวอื่นรู้ว่าได้ล้ำเขตแดนของตนเข้ามาแล้ว เช่น ทิ้งรอยขูดหรือรอยข่วนตามต้นไม้หรือทางเดินในอาณาเขตของเสือแต่ละตัว[18] บางครั้งเสือจะปัสสาวะรดรอยเอาไว้เมื่อเสือตัวอื่นเห็นรอยและได้กลิ่นเสือเจ้าถิ่นที่ทำเอาไว้[19] มันจะรู้ว่าเป็นรอยเก่าหรือรอยใหม่ ถ้ายังเป็นรอยใหม่มันจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันและไปใช้พื้นที่อื่น การเผชิญหน้ากันระหว่างเสือจ้าวถิ่นและเสือตัวอื่นจึงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก โดยปกติแล้วเสือเป็นสัตว์กินเนื้อไม่ใช่สัตว์กินซากพืชหรือซากสัตว์ การล่าเหยื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญของการมีชีวิตรอดในธรรมชาติ แม้ว่าเสือจะมีร่างกายที่มีพละกำลัง ปราดเปรียวว่องไวและเขี้ยวเล็บที่แหลมคม แต่การมีชีวิตรอดในธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การแย่งอาหารหรือการเผชิญหน้ากันก็อาจจะเกิดขึ้นไปตลอดเวลา

เสือเป็นสัตว์รักสงบแต่เมื่อต้องล่าเหยื่อมันจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตรายและดุร้ายที่สุด เสือมีความอดทนสูงในการรอคอยให้เหยื่อเผลอ มันจะพรางตัวซุ่มรอคอยเหยื่อโดยอาศัยสีขนและลายตามลำตัวที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม หากเหยื่อทำท่าเหมือนจะรู้ตัวมันจะแสร้งทำเป็นไม่สนใจ มันจะคอยหรือเดินตามเหยื่อไปห่าง ๆ ขณะที่ตาก็จับจ้องเหยื่ออยู่ตลอดเวลา และมีการมองเห็นเป็นเลิศ โดยสามารถสังเกตเห็นแม้ว่าเหยื่อจะแอบอยู่ในพุ่มไม้หรือพงหญ้า และเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเสือใช้ความสามารถในการมองเห็นร่วมกับการดมกลิ่นและการฟังด้วย เสือสามารถได้ยินเสียงจากระยะไกล และสามารถจำแนกเสียงทั่วไปที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กับเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้[20]

การจู่โจมเหยื่อของเสือเป็นไปตามสัญชาตญาณ ในกรณีของเหยื่อที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง เสือจะเข้าจู่โจมทางทิศที่เหยื่อป้องกันตัวเองไม่ได้ คือจะกระโดดเข้าตระครุบเหยื่อในแนวเฉียงจากทางด้านหลัง เมื่อเสือได้ยินเสียงมันจะยกหางขึ้นและหันหน้าไปทางต้นกำเนิดเสียง ถ้าหากเป็นเสียงเหยื่อเคลื่อนไหวเสือจะสำรวจบริเวณโดยรอบก่อนแล้ว จึงจะนั่งซุ่มมองดูท่าทีของเหยื่อผ่านดงหญ้าหรือพุ่มไม้ด้วยดวงตาแหลมคม และค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้เหยื่อจนกระทั่งอยู่ในระยะที่สามารถกระโจนเข้าหาเหยื่อได้อย่างง่ายโดยอาศัยฝีเท้าอันเงียบกริบโดยการหดเล็บซ่อนเอาไว้ในอุ้งเท้า ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น และเมื่ออยู่ในระยะที่เหมาะสมมันจะย่อขาหลังลงอยู่ในท่าพร้อมกระโจนออกไป ปลายหางมีอาการกระตุกไปมา ขาด้านหน้าแยกออกจากกันเพื่อเป็นหลักในการทรงตัวและกระโจนเข้าตะปบเหยื่อ แต่สำหรับการจู่โจมเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ของเสือที่มีขนาดใหญ่นั้น ในจังหวะสุดท้ายเสือจะเข้าตะครุบเหยื่อในระยะประชิดตัวโดยใช้เท้าหลังยึดกับพื้น ส่งกำลังโถมตัวสูงขึ้นพร้อมกับใช้อุ้งเท้าหน้าเข้าตะปบเหยื่อ

ข้อได้เปรียบของการใช้เท้าหลังยึดกับพื้นแทนการกระโดดเข้าตะครุบคือ การทรงตัวอันมั่นคงที่พร้อมจะจู่โจมหรือรับมือกับการต่อสู้ ในจังหวะต่อมาหรือผละถอยถ้าจำเป็น นอกจากนี้เท้าหลังยังช่วยให้มันเคลื่อนตัวไล่ติดตามเหยื่อได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเหยื่อจะขยับตัวหนีในจังหวะเดียวกับที่มันโถมตัวเข้าตะครุบเหยื่อแล้วก็ตาม ซึ่งหลังจากที่เสือใช้อุ้งเท้าเพียงหนึ่งหรือสองข้างตะปบเหยื่อแล้ว มันจะกัดเหยื่อทันทีซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วมากและเป็นไปโดยอัตโนมัติ คือจะมุ่งยังตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดกับอุ้งเท้าด้านหน้าข้างที่มันใช้ตะปบเหยื่อ โดยส่วนใหญ่จึงเป็นตำแหน่งบริเวณสันหลัง ไหล่หรือค่อนไปทางสะโพก แต่ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ทำให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ดังนั้นเสือจึงจะจู่โจมต่ออย่างรวดเร็วด้วยการกัดตรงหลังคอของเหยื่อซึ่งจะทำลายระบบประสาทและทำให้เหยื่อตายทันที

แหล่งที่มา

WikiPedia: เสือ http://www.fengshuihut.com/index.php?lay=show&ac=a... http://news.nationalgeographic.com/news/2006/01/01... http://www.tigerzoo.com/Tigerthai/edu.html http://www.ubonzoo.com/wild_animals/panthera_main.... http://www.ubonzoo.com/wild_animals/tigris.html http://www.ubonzoo.com/wild_animals/tigris_left.ht... http://www.zoovetnetwork.com/mcontents/marticle.ph... http://mypage.iu.edu/~pdpolly/Papers/Polly%20et%20... http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/animal_... http://www.pubmedcentral.nih.gov/articlerender.fcg...