ผลที่ตามมา ของ เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา_พ.ศ._2563

การนำออกจากเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก ได้ถอดบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย อันเนื่องจากโพสต์ข้อความและวิดีโอสดที่มีเนื้อหารุนแรง ซึ่งขัดกับนโยบายของเฟซบุ๊ก[21] นอกจากนั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้​ขอให้เฟซบุ๊กตรวจสอบและนำภาพการเสียชีวิต รวมถึงคลิปการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ออกจากระบบ[22]

การทำงานของสื่อมวลชน

จากเหตุการณ์นี้ สังคมตั้งคำถามถึงการทำงานของสื่อมวลชน เรื่องมีส่วนการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ มีกระแสในโลกโซเชียลตำหนิสื่อมวลชนจำนวน 3 ช่อง คือช่องวัน, ไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี เนื่องจากบอกรายละเอียดที่ตั้ง แนวการทำงานของเจ้าหน้าที่ สัมภาษณ์และบอกพิกัดของผู้ที่ติดอยู่ในเทอร์มินอล 21 โคราช และสัมภาษณ์สดพ่อของผู้เสียชีวิต ที่สร้างความหดหู่แก่ผู้ชม[23] แม้ กสทช. ออกคำสั่งไปยังสถานีทุกช่องให้งดการนำเสนอภาพข่าว การรายงานสด ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในเหตุการณ์ ก็ยังพบบางสถานีไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด[24] อย่างไรก็ตาม ช่องดังกล่าวกลับได้รับผลตอบรับทางด้านเรตติ้งที่สูงมาก[23]

กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ ให้ความเห็นเรื่อง การวิเคราะห์สถานการณ์ หรือ วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ ว่า "บางครั้งก็นำผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ เป็นการขายข่าวไปวัน ๆ คงไม่เกิดประโยชน์อะไรแถมจะเกิดผลเสียให้กับสังคมอีกมากมาย"[25]

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กสทช. ได้สั่งปรับสื่อมวลชนที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 ช่อง โดยแบ่งเป็นช่องวัน ถูกปรับ 250,000 บาท เนื่องจากเป็นการทำผิดครั้งแรก ส่วนไทยรัฐทีวีและอมรินทร์ทีวี ถูกปรับเป็นโทษสูงสุด คือช่องละ 500,000 บาท เนื่องจากเคยได้รับโทษในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการนำเสนอข่าววิธีการกราดยิงซ้ำอีกครั้งในรูปแบบแอนิเมชันซึ่งไม่ใช่การออกข่าวที่แท้จริง[26]

การทำงานของกองทัพและรัฐบาล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงความล่าช้าในการระงับเหตุ และเหตุผลที่ไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์[27] โดยไล่เรียงเหตุการณ์ว่า คนร้ายอยู่ในค่ายสุรธรรมพิทักษ์ นาน 50 นาที ก่อนเดินทางไปก่อเหตุ ใกล้วัดป่าศรัทธารวม อีก 50 นาที จากนั้นใช้เวลาเดินทางอีก 30 นาที ไปห้างเทอร์มินอล 21 โดยพลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบกลับว่า ช่วงเวลาดังกล่าวได้สั่งให้เตรียมกำลังและร่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตามขั้นตอน[28]

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยคลังอาวุธของกองทัพ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตอบข้อซักถามนี้กับสื่อมวลชนว่า กองทัพมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยและป้องกันคลังอาวุธกระสุนมานานแล้ว ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด ยามรักษาการณ์ บางหน่วยมีสุนัขร่วมด้วย แต่ในเหตุการณ์นี้ยอมรับว่า มีหน่วยงานที่หละหลวม อย่างไรก็ดี ผู้ก่อเหตุปฏิบัติราชการในหน่วยงานนั้น มีความเชี่ยวชาญช่ำชองทั้งการใช้อาวุธ และรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้จะเพิ่มมาตรการให้รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น[29]

การตรวจสอบธุรกิจในค่ายทหาร

ข้อมูลจากการสอบสวนของตำรวจ สันนิษฐานว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้มีที่มาจากข้อพิพาทเรื่องเงินและการซื้อขายบ้านที่ผู้ก่อเหตุซื้อจากนางอนงค์ รวมถึงคำยืนยันจากพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ระบุว่าทหารผู้ก่อเหตุ "ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ" จึงเป็นเหตุนำไปสู่การหาความจริงเกี่ยวกับธุรกิจของนางอนงค์ พบว่ามีการทำเป็นขบวนการ คือ เจ้าของโครงการบ้านจัดสรรที่เป็นเครือญาติของนายทหารนำโครงการมาเสนอขายให้ทหารชั้นผู้น้อยในราคาถูก จากนั้นจัดหาเจ้าหน้าที่มาดูแลด้านการอนุมัติเงินกู้ของกรมสวัสดิการทหารบกมาประเมินราคาบ้านให้สูงกว่าความเป็นจริงเพื่อขออนุมัติเงินกู้ในวงเงินที่สูง ๆ โดยผู้บังคับบัญชาเซ็นหนังสือรับรองเพื่อให้อนุมัติเงินได้ง่ายขึ้น แต่ทางกองทัพบกออกมา ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีขบวนการเงินทอน กองทัพและกรมสวัสดิการทหารบกไม่ได้ประโยชน์จากเงินส่วนต่างในการกู้เงิน และเชื่อว่าความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางกองทัพบกสั่งตรวจสอบโครงการสวัสดิการทหารและธุรกิจในค่ายทหารทั้งหมด[30]

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์โกก้าง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา_พ.ศ._2563 http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG2008... https://www.aljazeera.com/news/2020/02/killed-woun... https://www.amarintv.com/news-update/news-26786/49... https://www.amarintv.com/news-update/news-26813/49... https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865645 https://www.bangkokpost.com/thailand/general/18533... https://www.bbc.com/thai/thailand-51426918 https://www.bbc.com/thai/thailand-51454076 https://www.bbc.com/thai/thailand-51499744 https://news.bectero.com/news/171271