สังคมโชซ็อน ของ เหตุการณ์จลาจลขององค์ชายครั้งที่หนึ่ง

ในยุคโชซ็อนสังคมเกาหลีมีการแบ่งชนชั้นที่เข้มงวดและได้รับการรับรองจากกฎหมาย เนื่องจากชาวเกาหลีมีคติเรื่องการสืบทอดทางสายเลือดมาแต่ยุคโบราณ แม้ว่าหลักของขงจื๊อสอนว่าบุคคลสามารถพัฒนาตนเองได้ แต่ในโชซ็อนการสืบทอดสถานะทางสาแหรกตระกูลยังคงมีความสำคัญ อาณาจักรโชซ็อนปกครองโดยราชาธิปไตยมีกษัตริย์แห่งโชซ็อนเป็นประมุขสูงสุด ภายใต้กษัตริย์คือชนชั้นขุนนาง สังคมโชซ็อนแบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆดังนี้

  1. ยังบัน (Yangban เกาหลี: 양반, 兩班) ชนชั้นขุนนาง คำว่ายังบันแปลว่าชนชั้นทั้งสองประกอบด้วยมุนบัน (เกาหลี: 문반, 文班) ชนชั้นปราชญ์หรือขุนนางฝ่ายบุ๋น และมูบัน (เกาหลี: 무반, 武班) ชนชั้นนักรบหรือขุนนางฝ่ายบู๊ ยังบันเป็นชนชั้นขุนนางซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากชนชั้นขุนนางในยุคโครยอ เป็นชนชั้นผู้มีเอกสิทธิ์ในการปกครอง ตำแหน่งขุนนางของยังบันในราชสำนักไม่สืบทอดทางสายเลือด บุรุษยังบันเข้ารับราชการด้วยการสอบควา-กอ (เกาหลี: 과거, 科擧) หรือการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ชนชั้นยังบันมีอภิสิทธิ์ในการศึกษาหลักของลัทธิขงจื๊อ ขุนนางยังบันผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมเรียกว่าซ็อนบี (เกาหลี: 선비) ในทางปฏิบัติชนชั้นยังบันเป็นชนชั้นปิด บุตรชายของขุนนางยังบันเท่านั้นที่มีสิทธิ์สอบมุน-กวา (เกาหลี: 문과, 文科) เข้ารับราชการในระดับสูง ราชสำนักมีการตรวจสอบพงศาวลีของขุนนางเพื่อยืนยันว่าขุนนางเหล่านั้นมีสายเลือดยังบันอย่างแท้จริง ราชสำนักโชซ็อนมีกฎหมายให้ขุนนางยังบันสมรสกับสตรีจากชนชั้นยังบันด้วยกันเป็นภรรยาเอกเท่านั้น บุตรของยังบันที่เกิดจากภรรยาเอกเท่านั้นที่สืบทอดสถานะความเป็นยังบันต่อไป ชนชั้นยังบันมีรายได้จากเบี้ยหวัดจากราชการและการครอบครองที่ดิน ได้รับอภิสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เมื่อขุนนางยังบันกระทำความผิดได้รับโทษอาจถูกลดสถานะจากความเป็นยังบันได้ หากครอบครัวยังบันไม่ส่งสมาชิกผู้ชายเข้ารับราชการเป็นเวลาสามรุ่นขึ้นไปจะสูญเสียสถานะความเป็นยังบัน
  2. ชุงอิน (เกาหลี: 중인, 中人) ชนชั้นกลางผู้ประกอบวิชาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญได้แก่ ล่ามแปลภาษา นักกฎหมาย แพทย์ และนักดาราศาสตร์ ชนชั้นชุงอินไม่สามารถสอบมุน-กวาเพื่อรับราชการในระดับสูงได้ แต่สามารถสอบชัป-กวา (เกาหลี: 雜科) หรือการสอบศาสตร์ต่างๆตามสายวิชาชีพเพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนางระดับล่างได้ และสามารถสอบมู-กวา (เกาหลี: 무과, 武科) หรือการสอบศิลปะป้องกันตัวเพื่อเข้ารับราชการฝ่ายทหารได้ ชนชั้นชุงอินสืบทอดความรู้วิทยาการภายในสายตระกูลครอบครัว
  3. ซังมิน (เกาหลี: 상민, 常民) สามัญชนทั่วไปซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักร ประกอบด้วยชาวนาชาวไร่ กรรมกร ชาวประมง และพ่อค้า ชาวบ้านซังมินทำมาหากินภายในที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินของขุนนางยังบัน ชนชั้นซังมินต้องเสียภาษีให้แก่ราชสำนักโชซ็อนในรูปแบบต่างๆ และอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นกองกำลังสู้รบได้ในยามสงคราม
  4. ช็อนมิน (เกาหลี: 천민, 賤民) ชนชั้นทาส ทางราชการจะเข้ามาควบคุมชนชั้นนี้เสมือนเป็นสิ่งของชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคลสามารถซื้อขายกันได้ และทางราชการเองก็มีช็อนมินไว้เป็นสมบัติเป็นจำนวนมากเพื่อใช้งานในราชสำนัก ช็อนมินที่ไม่ได้มีเจ้าของก็จะประกอบอาชีพที่สังคมดูถูกเช่น คนฆ่าสัตว์ นักแสดงกายกรรม ผู้หญิงก็จะมีสามอาชีพ คือ มูดัง (ร่างทรง) คีแซง (นางโลม) และอึยนยอ (แพทย์หญิง) แต่ควากอขุนนางฝ่ายบู้ก็เปิดโอกาสให้ช็อนมินผู้ชายเข้าไปเป็นทหารเช่นกัน

การแบ่งชนชั้นทางสังคมโชซ็อนนั้นเข้มงวดมากในต้นสมัยโชซ็อน แต่หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นและการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ชนชั้นล่างก็เริ่มที่จะลืมตาอ้าปากได้ขณะที่ชนชั้นบนก็ยากจนขัดสนลง สตรียังบันนั้นจะต้องเชื่อฟังสามี เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านออกนอกบ้านได้นาน ๆ ครั้ง เมื่อออกนอกบ้านต้องปกปิดหน้าตา แต่สตรีในระดับชั้นล่างกลับมีอิสรภาพมากกว่า สามารถไปไหนมาไหนก็ได้

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์โกก้าง