แพรแถบของเหรียญ ของ เหรียญชัยสมรภูมิ

แพรแถบของเหรียญจำแนกตามคราวที่มีการส่งทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่กระทำหน้าที่อย่างทหารหรือตำรวจ เข้าปฏิบัติการในสงครามและการรบครั้งต่าง ๆ ดังนี้

  1. เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน
  2. เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา
  3. เหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี
  4. เหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม

เหรียญชัยสมรภูมิสำหรับการรบในแต่ละครั้งล้วนมีลำดับเกียรติเสมอกัน แต่เมื่อประดับเหรียญ จะต้องประดับเรียงตามลำดับเหรียญที่ได้รับพระราชทานในแต่ละครั้ง

กรณีสงครามอินโดจีน

  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน ประดับเปลวระเบิด
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน ประดับช่อชัยพฤกษ์

แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน กำหนดลักษณะไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดเหรียญชัยสมรภูมิ พุทธศักราช 2484 ไว้ว่า

"ตัวเหรียญห้อยกับแพรแถบสีแดง กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีขาวใกล้ขอบทั้งสองข้าง ข้างบนมีเข็มโลหะรูปคทาจอมพลจารึกอักษรว่า “ชัยสมรภูมิ”"

ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดเหรียญชัยสมรภูมิ พุทธศักราช 2484 (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2485 โดยเพิ่มข้อความในข้างท้ายมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดเหรียญชัยสมรภูมิ พุทธศักราช 2484 ว่า "หรือกับแพรแถบสี ขนาด และลักษณะอื่นตามที่จะได้กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำการรบกับราชศัตรูในการรบเฉพาะคราว" เพื่อให้สามารถกำหนดลักษณะแพรแถบสำหรับการรบครั้งอื่น ๆ เพิ่มเติมได้[2]

กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา

  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ประดับเปลวระเบิด
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ประดับช่อชัยพฤกษ์

แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ได้กำหนดลักษณะครั้งแรกไว้ใน มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ พุทธศักราช 2485 ดังนี้

"แพรแถบเหรียนชัยสมรภูมิสำหรับพระราชทานแก่ผู้กะทำการรบกับราชสัตรู ไนคราวที่ประเทสไทยกะทำสงครามกับสหรัถอเมริกาและบริเตนไหย่นั้น ไห้เปนสีเขียว ขนาดกว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงที่ขอบ และถัดริ้วสีแดงเข้าไปเปนริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ด้านบนแพรแถบมีเข็มโลหะรูปคทาจอมพลจารึกอักสรว่า "ชัยสมรภูมิ""[3]

แพรแถบนี้ได้มีการยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2488 ตามพระราชกฤษฎีกายกเลิกแห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ พุทธศักราช 2485 พุทธศักราช 2488[4] ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 จึงมีการตรากฎหมายเพื่อรับรองฐานะของแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิสงครามมหาเอเชียบูรพาอีกครั้ง โดยมีลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ พ.ศ. 2502 ดังนี้

"แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิสำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำการรบในคราวสงครามมหาอาเซียบูรพานั้น ให้เป็นสีเขียว ขนาดกว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงที่ขอบ และถัดริ้วสีแดงเข้าไปเป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ด้านบนแพรแถบมีเข็มโลหะรูปคทาจอมพลจารึกอักษรว่า "ชัยสมรภูมิ""[5]

กรณีการร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี

  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี ประดับเปลวระเบิด
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี ประดับช่อชัยพฤกษ์

แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี กำหนดลักษณะไว้ตามตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ พ.ศ. 2494 ดังนี้

"แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิสำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำการร่วมรบกับสหประชาชาตินั้น ให้เป็นสีฟ้า ขนาดกว้าง 3.5 เซนติเมตร และถัดริ้วสีฟ้าเข้าไปเป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ด้านบนแพรแถบมีเข็มโลหะรูปคทาจอมพลจารึกอักษรว่า "ชัยสมรภูมิ""[6]

กรณีการรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม

  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม ประดับเปลวระเบิด
  • แพรแถบย่อเหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม ประดับช่อชัยพฤกษ์

แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม กำหนดลักษณะไว้ตามตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ พ.ศ. 2510 ดังนี้

"แพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิสำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำการรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนามนั้น ให้เป็นสีเหลือง ขนาดกว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงที่ขอบ และถัดริ้วสีแดงเข้าไปเป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ด้านบนแพรแถบมีเข็มโลหะรูปคทาจอมพลจารึกอักษรว่า "ชัยสมรภูมิ""[7]

ใกล้เคียง

เหรียญรัตนาภรณ์ เหรียญ 10 บาท เหรียญ 5 บาท เหรียญกล้าหาญ เหรียญ 2 บาท เหรียญพิทักษ์เสรีชน เหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสกุลเงินบาท (พ.ศ. 2504-2529) เหรียญ 1 บาท เหรียญดุษฎีมาลา