สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ของ เห็ดเผาะ

โครงสร้างทางเคมีของสายโซ่โมเลกุลซึ่งมีลักษณะเฉพาะของไตรเทอร์พีน astrahygrol, 3-epi-astrahygrol, และ astrahygrone ที่ก่อตัวขึ้น

พอลิแซ็กคาไรด์ของเห็ดชนิดนี้ได้ดึงดูดความสนใจของนักวิจัยเนื่องด้วยคุณสมบัติควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและต้านเซลล์มะเร็งของมัน[19] สารสกัดจาก A. hygrometricus ประกอบด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ที่ชื่อ AE2 ซึ่งพบว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไลน์เนื้องอกในผลการทดลองเชิงห้องปฏิบัติการ[20][21] และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ม้าม ไทมอไซต์ และเซลล์ไขกระดูกในหนู สารสกัดนี้ยังกระตุ้นเซลล์ที่เชื่อมโยงกับระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย โดยเฉพาะเซลล์เพชฌฆาต กระตุ้นมาโครฟาจให้ผลิตไนตริกออกไซด์ และเพิ่มการผลิตไซโตไคน์[22][23][24][25] การกระตุ้นมาโครฟาจโดย AE2 อาจอาศัยวิถีไมโทเจน–แอคทิเวเตดโปรตีนไคเนสของกระบวนการส่งต่อสัญญาณเป็นสื่อกลาง[26][27] AE2 ถูกสร้างจาก แมนโนส กลูโคส และฟิวโคสในสัดส่วน 1:2:1[9]

นอกเหนือไปจากสารประกอบสเตอรอยด์ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ ได้แก่ ergosta-7,22-diene-3-ol acetate และ ergosta-4,6,8-(14),22-tetraene-3-one ยังมีสามไตรเทอร์พีนที่มีลักษณะเฉพาะ (สารอนุพันธ์ของ 3-hydroxy-lanostane) ถูกแยกมาจากสปอโรคาร์ปของ A. hygrometricus สารประกอบที่ชื่อ astrahygrol, 3-epi-astrahygrol และ astrahygrone (3-oxo-25S-lanost-8-eno-26,22-lactone) ซึ่งมี δ-lactone (วงแหวนรูปหกเหลี่ยม) ในโซ่ข้างเป็นคุณสมบัติทางเคมีที่แต่ก่อนไม่รู้จักในหมวด Basidiomycota[28][29] สเตอรอลเอสเทอร์ที่ไม่ทราบมาก่อนหน้านี้ (3β, 5α-dihydroxy-(22E, 24R)-ergosta-7,22-dien-6α-yl palmitate) ถูกแยกจากไมซีเลียมที่เจริญในการเพาะเลี้ยงโดยใช้อาหารเลี้ยงชนิดเหลว สารประกอบมี polyhydroxylated ergostaneซึ่งเป็นต้นแบบนิวเคลียส[30]

การสกัดสปอโรคาร์ปโดยใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลายมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบเมื่อเทียบกับไดโคลฟีแนคในการทดสอบเชิงห้องปฏิบัติการ[31] การศึกษาสิ่งมีชีวิตต้นแบบได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปกป้องตับ โดยการฟื้นฟูระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทสและคะตาเลสที่ลดลงจากการทดลองปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากคาร์บอนเตตระคลอไรด์ซึ่งทำลายตับ[32]