ความเป็นมา ของ เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา

ประเทศสหราชอาณาจักรอนุญาตให้สมาชิกสภาขุนนางและสภาสามัญชนพูดได้อย่างเสรีระหว่างการดำเนินการทั่วไปในสภา โดยไม่ต้องเกรงกลัวที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาท หมิ่นศาล หรือละเมิดพระราชบัญญัติความลับทางราชการ[1][2] เอกสิทธิ์นี้ยังให้การคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาไม่ให้โดนจับกุมในคดีแพ่งจากคำพูดหรือกระทำในฐานะสมาชิกสภาฯ ภายในอาณาบริเวณของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าคำพูดหรือการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในรัฐสภา อาทิ การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในสภาสามัญชน เอกสิทธิ์นี้ทำให้สมาชิกสามารถตั้งคำถามหรือถกเถียงประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท แทรกแซงคดีที่กำลังถูกพิจารณาในศาล หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดเผยความลับทางราชการ

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ไม่มีผลกับคดีอาญา และไม่คุ้มครองสภาที่ถูกถ่ายโอนอำนาจในสกอตแลนด์และเวลส์[3] เอกสิทธิ์ในการพูดอย่างเสรีนี้ยังส่งผลให้มีการตั้งกฎที่ห้ามไม่ให้สมาชิกสภาพูดคำบางคำออกมา หรือส่อความว่าสมาชิกอีกคนหนึ่งโกหก[4]

สิทธิ์และเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาถูกกำหนดโดยคณะกรรมมาธิการมาตรฐานและคณะกรรมาธิการเอกสิทธิ์ ถ้าสมาชิกรัฐสภาทำผิดกฎ สมาชิกผู้นั้นก็อาจจะถูกระงับสมาชิกภาพหรือถูกขับออกจากสภาได้ ความผิดที่เคยเกิดขึ้นได้แก่ การยื่นหลักฐานเท็จต่อคณะกรรมาธิการประจำสภา การรับสินบน เป็นต้น

สิทธิ์ที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ในประเทศที่ใช้รัฐสภาระบบเวสต์มินสเตอร์เช่นประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศไทย เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เอกสิทธิ์นี้ถูกมอบให้โดยข้อความวรรคหนึ่งว่าด้วยการพูดและการอภิปรายในมาตราที่หนึ่งของรัฐธรรมนูญสหรัฐ และในสภานิติบัญญัติของหลาย ๆ รัฐในสหรัฐอเมริกาก็ได้ให้ความคุ้มครองที่คล้ายคลึงกัน

ในประเทศไทย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภาได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยให้เอกสิทธิ์ในการอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม ลงมติและลงคะแนน รวมถึงการดำเนินการทางรัฐสภาอื่น ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้อง หรือถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน[5]

ใกล้เคียง

เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ เอกสิทธิ์คนขาว เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา เอกสิทธิ์ เอกนิษฐ์ ปัญญา เอสิกส์ เอกสารตัวเขียนสีวิจิตร เอกสารปานามา เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ เอกสารตัวเขียนอัลกุรอานเบอร์มิงแฮม