ประวัติ ของ เอมิล_ออกัสต์_กอลมเบต์

ชีวิตช่วงต้น

บาทหลวงเอมิล เยแนสต์ โอกุสต์ โกลงเบต์ หรือ เอมิล เจแนสต์ ออกัสต์ กอลมเบต์ ตามการออกเสียงที่คนไทยนิยมเรียก เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 1849 ที่เมืองกัป จังหวัดโอตซาลป์ ประเทศฝรั่งเศส มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน พื้นเพของตระกูลกอลมเบต์เป็นพวกที่ศรัทธาในพระเจ้าอยู่แล้ว หนึ่งในพี่น้องของเอมิล กอลอมเบต์ ก็เป็นบิชอบอยู่ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญในเมืองกัปด้วย ชีวิตในวัยเด็กของท่านมักเจ็บป่วยอยู่เสมอ เมื่ออายุได้ 3 ปี มารดาของท่านจึงพาท่านไปรักษากับบาทหลวงเวียอันเนย์ เจ้าอาวาสแห่งอาร์ส ที่เมืองมาร์กเซย์ ท่านจึงได้รับศีลจนแข็งแรงดี เมื่อกลับจากมาร์กเซย์ท่านได้เข้าเป้นนักขับร้องในอาสนวิหาร ทำให้ท่านมีรสนิยมในทางดนตรีนับตั้งแต่เด็ก[1] หลังจากที่ได้เรียนหนังสือจบจากบ้านเณรเล็กแล้ว ท่านก็เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 แต่ในปี ค.ศ. 1870 มีสงครามเกิดขึ้น บ้านเณรจึงถูกปิด และการที่ท่านได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ไปทำสงคราม ก็เพราะท่านได้ศีลรองอนุสงฆ์แล้ว[2]

เดินทางสู่สยาม

วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1871 ท่านได้รับศีลบวชเป็นบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) จากนั้น ได้ออกเดินทางมามิสซังสยาม เมื่อ 31 มกราคม ค.ศ. 1871 เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 เมษายน 1872 ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 23 ปี เริ่มต้นภารกิจในไทยด้วยการเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรบางนกแขวก (เป็นเวลา 2 ปี ) จากนั้นในปี ค.ศ. 1875 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ทางมิสซังฯได้ให้ท่านมาเป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์กาลหว่าร์

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1875 คุณพ่อกอลมเบต์เข้ารับตำแหน่งเป็นเป็นเจ้าอาวาสโบสถ์อัสสัมชัญ คุณพ่อกอลมเบต์จะสร้างโรงเรียนหนึ่งขึ้น เพื่อให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในที่อันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระสังฆราชเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำโบสถ์ในปี ค.ศ. 1877

ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

เมื่อปี ค.ศ. 1885 คุณพ่อกอลมเบต์เปลี่ยนฐานะของโรงเรียนจากโรงเรียนประจำโบสถ์มาเป็น “อัสสัมชัญคอลเลจ” และเปิดรับเด็กนักเรียนทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา 6 มกราคม 1887 ได้เสนอโครงการขยายการศึกษา และการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 50 ชั่ง และ 25 ชั่ง รวมเป็นเงิน 6,000 บาท เป็นรากฐานในการก่อสร้างด้วย รวมทั้งบรรดาพระราชวงศ์ และข้าราชการ ชั้นสูง ก็ได้ร่วมกันบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย เมื่อ 15 สิงหาคม 1887 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน

ในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งมีอาการเจ็บป่วยจากอากาศในเมืองไทย ได้ลาพระสังฆราชกลับไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อรักษาตัว แต่ในการเดียวกันนี้ ท่านสังฆราชได้มอบหมายให้คุณพ่อกอลมเบต์หาคณะภราดาฯเพื่อมาบรรเทาภาระของโรงเรียนด้วย คุณพ่อกอลมเบต์ได้รับคำแนะนำจากภราดาอาร์คีลิน ให้ขึ้นรถไฟไปเข้าพบท่านอธิการใหญ่แห่งคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ณ เมืองแซ็ง-โลร็อง-ซูร์-แซ็ฟวร์ จังหวัดว็องเด และเจรจาต่อรองตามเงื่อนไขของทางมิสซังฯ เมื่อท่านอธิการใหญ่ตอบตกลง จึงได้ส่งคณะภราดาฯ ชุดแรก 5 คน เข้ามาในไทย เมื่อปี ค.ศ. 1901 ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์ยังคงพำนักรักษาตัวที่ฝรั่งเศสต่อไปอีกปี และะเดินทางกลับไทยในปี ค.ศ. 1902

คุณพ่อกอลมเบต์ยังเป็นคนประสานงานสำคัญในการชักชวนให้คณะภคินีเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ต เข้ามาเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงในปี ค.ศ. 1904 ในปัจจุบันคือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ 1904 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง “สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ (สมาคมอัสสัมชัญ) ”

ในปี ค.ศ. 1906 คุณพ่อกอลมเบต์เริ่มประกาศเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านสำหรับการก่อสร้างโบสถ์อัสสัมชัญหลังใหม่ คุณพ่อกอลมเบต์ถือเป็นโต้โผใหญ่ในโครงการใหญ่ยักษ์เช่นนี้ ท่านใช้เวลาไปกับการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทั้งสิ้น 13 ปี ในปี 1907 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปมุขนายกมิสซังฯ และปี 1909 รักษาการในตำแหน่งประมุขมิสซังฯ ชั่วคราว ภายหลังมรณกรรมของพระคุณเจ้าฌอง หลุยส์ เวย์ และโบสถ์หลังใหม่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1919 ในปี 20 ธันวาคม 1922 ท่านได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (La Legion d'Honneur) จากรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะที่คุณพ่อได้ประกอบคุณงามความดี ทำชื่อเสียงให้ แก่ประเทศ นอกจากนี้คุณพ่อยังเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ ให้แก่ประเทศสยาม[3]

วาระสุดท้าย

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งพักผ่อนเพราะอาพาธ ได้เลือกไปพักที่โรงพยาบาลของมิสซัง ในปี ค.ศ.1933 สองสามวันก่อนฉลองแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ คุณพ่อได้แสดงความปรารถนาที่จะไปร่วมพิธีแห่ ซึ่งทำกันทุกปีรอบอาสนวิหารที่รักของท่านในโอกาสฉลองนี้ แต่ก็ต้องล้มเลิก เพราะไข้ขึ้นสูง[4]

ตั้งแต่นั้นมา กำลังของท่าน ก็มีแต่ลดถอยลง และวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933ก็ค่อยๆ สิ้นใจ โดยมีคุณพ่อแฟร์เลย์ และภคินีต่าง ๆ ของโรงพยาบาลคอยเฝ้าดูอยู่ วันก่อนคุณพ่อรับศีลมหาสนิท และพระสังฆราชแปร์รอสมาเยี่ยมท่าน และท่านยังได้ร่วมสวดเร้าวิงวอน ตามที่พระสังฆราชเสนอให้ท่านสวด[5]

พิธีปลงศพจัดขึ้นวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1933 เป็นพิธีที่ระทึกใจที่สุด : มีคนอย่างน้อย 2,000 คน รีบเร่งกันมาในอาสนวิหาร พระสังฆราชแปร์รอสขับมิสซา เรกวีแอม และสวดส่งศพ แล้วศพก็ถูกแห่ไปรอบอาสนวิหาร และสนามโรงเรียนอัสสัมชัญ : เป็นการแห่ที่ใหญ่โตมโหฬาร[6]