ทฤษฎีและแนวคิด ของ เอมีล_ดูร์กายม์

ดูร์กายม์สังเกตเห็นการล่มสลายของบรรทัดฐานทางสังคม และการเพิ่มขึ้นของความไม่เป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิตในสังคม เพื่อที่จะศึกษาชีวิตของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ เขาได้สร้างวิธีการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมแบบวิทยาศาสตร์แนวทางแรก ๆ

ดูร์กายม์ไม่คิดเหมือนมัคส์ เวเบอร์ ที่เชื่อว่านักสังคมวิทยาต้องศึกษาปัจจัยที่ผลักดันกิจกรรมที่ปัจเจกกระทำ เขามักได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของแนวคิดกลุ่มนิยมเชิงระเบียบวิธี หรือแนวคิดองค์รวม (ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดปัจเจกนิยมเชิงระเบียบวิธี) เนื่องจากเขามีเป้าหมายที่จะศึกษา ความจริงทางสังคม ซึ่งเขาใช้เรียกปรากฏการณ์ที่มีอยู่ในสังคมซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของบุคคลใด ๆ บุคคลหนึ่งคนเดียว

ในผลงานเมื่อปี ค.ศ. 1893 ชื่อ การแบ่งงานในสังคม ดูร์กายม์ได้ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในสังคมรูปแบบต่าง ๆ เขามุ่งประเด็นอยู่ที่ลักษณะของการแบ่งงาน และศึกษาความแตกต่างที่มีในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่ นักคิดก่อนหน้าดูร์กายม์ เช่น เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) และ แฟร์ดีนันท์ เทินเนียส (Ferdinand Tönnies) ได้อธิบายว่า สังคมนั้นมีการพัฒนาในลักษณะเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต จากที่มีรูปแบบพื้นฐานไม่ยุ่งยาก จนกลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น คล้ายคลึงกับการทำงานของเครื่องจักรที่ซับซ้อน ดูร์กายม์มองในมุมที่กลับกัน เขากล่าวว่าสังคมดั้งเดิมนั้นมีลักษณะเป็นแบบ 'เชิงกลไก' โดยที่สังคมนั้นเกาะเกี่ยวเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยสาเหตุที่ว่าทุกคนมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งทำให้มีสิ่งของรวมถึงความคิดที่เหมือนและไปกันได้ ดูร์กายม์กล่าวว่า ในสังคมดั้งเดิมนั้น สำนึกของกลุ่มนั้นมีบทบาทเหนือสำนึกของปัจเจก — บรรทัดฐานนั้นเข้มแข็ง และพฤติกรรมของสมาชิกก็อยู่ในกฎเกณฑ์

ลักษณะเช่นนี้เปลี่ยนไปในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเขากล่าวว่า ผลของระบบการแบ่งงานอย่างซับซ้อนทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน "เชิงอินทรีย์" (organic solidarity) กล่าวคือ ความชำนาญเฉพาะด้านในหน้าที่การงานรวมถึงบทบาททางสังคม ทำให้เกิดการขึ้นต่อกันที่ยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการกระทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ตัวอย่างเช่นในสังคม "เชิงกลไก" ชาวนาอาจทำนาและอยู่ได้โดยลำพัง แต่ก็รวมกลุ่มกับคนอื่น ๆ ที่มีแบบแผนการดำรงชีวิตรวมถึงอาชีพแบบเดียวกัน ในสังคม 'เชิงอินทรีย์' คนงานทำงานเพื่อได้รายได้ แต่ก็ต้องพึ่งคนอื่น ๆ ที่มีความชำนาญในด้านที่แตกต่างออกไป เช่นทำเครื่องนุ่งห่ม ผลิตอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ

ผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับการแบ่งงาน ในความคิดของดูร์กายม์นั้น คือการเกิดขึ้นของสำนึกของสมาชิกแต่ละคน ที่มักจะอยู่ในสภาวะขัดแย้งกับสำนึกของกลุ่ม จึงทำให้เกิดความสับสนกับบรรทัดฐาน และในที่สุดแล้วอาจทำให้เกิดการล่มสลายของพฤติกรรมที่อยู่ในกฎเกณฑ์ของบรรทัดฐานทางสังคม ดูร์กายม์เรียกสภาวะนี้ว่า อโนมี ซึ่งหมายถึงสภาวะที่ไร้บรรทัดฐานทางสังคมทั้งหมด อันเป็นสภาวะที่ความปรารถนาของปัจเจกบุคคลมีได้ถูกบังคับไว้ด้วยบรรทัดฐานใด ๆ ทางสังคมเลย สภาวะทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนหลาย ๆ แบบ เช่น อัตวินิบาตกรรม หรือ การฆ่าตัวตาย

ดูร์กายม์ได้พัฒนาแนวคิดของอโนมีเพิ่มเติมในหนังสือ อัตวินิบาตกรรม ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1897 เขาเปรียบเทียบอัตราการทำอัตวินิบาตกรรมระหว่างกลุ่มคนในนิกายโปรเตสแตนต์และในนิกายแคทอลิก และอธิบายว่าระดับของความเข้มแข็งของการควบคุมทางสังคมในกลุ่มนิกายแคทอลิก มีผลเกี่ยวข้องกับอัตราการทำอัตวินิบาตกรรมที่ต่ำกว่า ในทัศนะของดูร์กายม์ ผู้คนนั้นมีการยึดติดอยู่กับกลุ่มในระดับหนึ่ง การยึดติดนี้เขาเรียกว่าบูรณาการทางสังคม (social integration) ระดับที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปของบูรณาการทางสังคมอาจทำให้ระดับของการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ระดับของบูรณาการทางสังคมที่ต่ำเกินไปทำให้สังคมขาดการจัดองค์กรที่ดี และมีลักษณะที่กระจัดกระจาย ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งการฆ่าตัวตายเพื่อเป็นทางออกสุดท้าย ในขณะที่ระดับที่สูงเกินไปบีบบังคับให้ผู้คนฆ่าตัวตายเพื่อลดภาระที่เกิดจากสังคม ดูร์กายม์ได้ให้ความเห็นว่าสังคมแคทอลิกนั้นมีระดับของบูรณาการที่ปกติ ในขณะที่สังคมโปรเตสแตนต์มีระดับที่ต่ำ ผลงานชิ้นนั้นมีอิทธิพลต่อการศึกษาทฤษฎีควบคุม และมักถูกจัดว่าเป็นการเนื้อหาของสังคมวิทยายุคคลาสสิก

ดูร์กายม์ยังสนใจเกี่ยวกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเขาเองทำงานเป็นผู้ฝึกสอนครู และเขาก็ใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงหลักสูตรให้มีการสอนสังคมวิทยาไปในวงกว้างเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้เขายังสนใจที่จะใช้การศึกษาเพื่อสร้างพื้นฐานทางสังคมร่วมกันของพลเมืองชาวฝรั่งเศส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะอโนมีขึ้น เพื่อเป้าประสงค์นี้ เขาจึงได้เสนอให้มีการตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นแหล่งสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับผู้ใหญ่

ดูร์กายม์ยังเป็นที่จดจำจากงานของเขาที่เกี่ยวกับชนพื้นเมือง (นั่นคือ มนุษย์ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก) ในหนังสือชื่อ รูปแบบพื้นฐานของชีวิตศาสนิกชน และในความเรียงชื่อ การจำแนกชนพื้นเมือง ที่เขาเขียนร่วมกับมาร์แซล โมส (Marcel Mauss) งานเหล่านี้ศึกษาบทบาทของศาสนาและตำนานที่มีกับมุมมองต่อโลกและบุคลิกลักษณะของผู้คน ที่อยู่ในสังคมที่มีลักษณะเป็นสังคมเชิงกลอย่างมาก