ส่วนของเอออร์ตา ของ เอออร์ตา

ในแหล่งข้อมูลทางกายวิภาค เอออร์ตาถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ[3][4][5][6]

วิธีหนึ่งในการจำแนกส่วนต่าง ๆ ของเอออร์ตาคือแบ่งตามช่องในร่างกาย โดยจะแบ่งเป็นเอออร์ตาส่วนอก (thoracic aorta) ซึ่งเริ่มจากหัวใจมายังกะบังลม จากนั้นเอออร์ตาจะวิ่งต่อลงมาเป็นเอออร์ตาส่วนท้อง (abdominal aorta) ซึ่งเริ่มจากกะบังลมมายังจุดแยกสองง่ามเอออร์ตา (aortic bifurcation)

อีกวิธีหนึ่งในการแบ่งเอออร์ตาเป็นการแบ่งตามทิศทางการไหลของเลือด ในการแบ่งแบบนี้ เอออร์ตาจะเริ่มที่เอออร์ตาส่วนขึ้น (ascending aorta) วิ่งขึ้นไปเหนือต่อหัวใจ และวกกลับเป็นรูปตัวยู เรียกว่า ส่วนโค้งเอออร์ตา (aortic arch) ต่อจากนั้น เอออร์ตาจะวิ่งลง เรียกว่า เอออร์ตาส่วนลง (descending aorta) ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองส่วนย่อย โดยเอออร์ตาที่วิ่งลงภายในช่องอก เรียกว่า เอออร์ตาส่วนอก หลังจากที่เอออร์ตาผ่านกะบังลมเข้าสู่ช่องท้องจะเป็นเอออร์ตาส่วนท้อง เอออร์ตาสิ้นสุดโดยแยกออกเป็นหลอดเลือดใหญ่สองเส้น คือ หลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วม (common iliac arteries) และหลอดเลือดที่เล็กลงมาและแยกออกไปในแนวกลางตัว คือ หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง (median sacral artery)[7]:18

เอออร์ตาส่วนขึ้น

ดูบทความหลักที่: เอออร์ตาส่วนขึ้น

เอออร์ตาขาขึ้นเริ่มที่รูเปิดของลิ้นเอออร์ติก (aortic valve) ในหัวใจห้องล่างซ้าย โดยจะวิ่งทะลุผ่านเยื่อหุ้มหัวใจด้วยกันกับส่วนโคนของหลอดเลือดแดงสู่ปอด (pulmonary trunk) ทั้งสองหลอดเลือดนี้จะวิ่งสลับฝั่งกัน ทำให้เอออร์ตาที่เริ่มต้นทางด้านหลังต่อโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด สลับฝั่งไปยังด้านขวาและหน้าต่อโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด[8]:191,204 จุดเปลี่ยนจากเอออร์ส่วนขึ้นไปเป็นส่วนโค้งเอออร์ตาอยู่ที่จุดพับกลับของเยื่อหุ้มหัวใจที่อยู่บนเอออร์ตา[9]:แผ่นที่ 211

ที่จุดเริ่มต้นของเอออร์ตาส่วนขึ้น ลูเมนหรือช่องภายในหลอดของเอออร์ตามีถุงเล็ก ๆ สามถุงระหว่างใบลิ้นของลิ้นเอออร์ติกและผนังของเอออร์ตา ซึ่งเรียกว่าโพรงเลือดเอออร์ติก (aortic sinuses หรือ sinuses of Valsalva) โพรงเลือดเอออร์ติกซ้ายจะมีรูเปิดไปสู่หลอดเลือดแดงหัวใจซ้าย (left coronary artery) และในทำนองเดียวกัน โพรงเลือดเอออร์ติกขวาก็จะมีรูเปิดไปสู่หลอดเลือดแดงหัวใจขวา (right coronary artery) โดยหลอดเลือดแดงทั้งสองจะให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ ส่วนโพรงเลือดเอออร์ติกด้านหลังนั้นไม่ได้ให้แขนงไปเป็นหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเหตุนี้ โพรงเลือดเอออร์ติกทั้งสามยังสามารถเรียกเป็น โพรงเลือดหลอดเลือดหัวใจซ้าย ขวา และโพรงเลือดไม่มีหลอดเลือดหัวใจ (left-coronary, right-coronary and non-coronary sinuses)[8]:191

ส่วนโค้งเอออร์ตา

ดูบทความหลักที่: ส่วนโค้งเอออร์ตา

ส่วนโค้งเอออร์ตาจะวนกลับเหนือต่อหลอดเลือดแดงสู่ปอดขวาและจุดแยกสองง่ามของโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด ซึ่งที่จุดนี้มีการเชื่อมกันโดย ลิกาเมนตัม อาร์เทอริโอซัม (ligamentum arteriosum) ซึ่งเป็นส่วนเหลือของหลอดเลือดในระบบการไหลเวียนของทารกในครรภ์ โดยหลอดเลือดนี้จะหายไปเพียงไม่กี่วันหลังคลอด นอกจากจะวนกลับเหนือต่อหลอดเลือดดังกล่าวแล้ว ส่วนโค้งเอออร์ติกยังวนข้ามหลอดลมใหญ่ด้านซ้ายอีกด้วย ระหว่างส่วนโค้งเอออร์ติกและโคนของหลอดเลือดแดงสู่ปอดจะมีโครงข่ายของเส้นใยประสาทอัตโนมัติ คือ ข่ายประสาทหัวใจ (cardiac plexus) หรือข่ายประสาทเอออร์ติก (aortic plexus) นอกจากนี้ เส้นประสาทเวกัสซ้าย ซึ่งวิ่งผ่านหน้าต่อส่วนโค้งเอออร์ตา จะให้แขนงใหญ่ คือ เส้นประสาทกล่องเสียงวกกลับ (recurrent laryngeal nerve) ซึ่งจะวนใต้ส่วนโค้งเอออร์ตา ด้านข้างต่อลิกาเมนตัม อาร์เทอริโอซัม แล้ววิ่งกลับขึ้นไปยังคอ

ส่วนโค้งเอออร์ตามีแขนงใหญ่ 3 แขนง เรียงจากส่วนต้นไปหาส่วนปลาย ได้แก่ หลอดเลือดแดงเบรเกียวเซฟาลิก (brachiocephalic trunk), หลอดเลือดแดงข้างคอร่วมซ้าย (left common carotid artery), และหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้าซ้าย (left subclavian artery) หลอดเลือดแดงเบรเกียวเซฟาลิกให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะและคอด้านขวา รวมถึงแขนขวาและ ผนังช่องอก ขณะที่อีก 2 หลอดเลือดให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเดียวกันแต่เป็นด้านซ้าย

จุดสิ้นสุดของส่วนโค้งเอออร์ตา และจุดเริ่มต้นของเอออร์ตาส่วนลง อยู่ระดับเดียวกับหมอนกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 4 และ 5[8]:209

เอออร์ตาส่วนอก

ดูบทความหลักที่: เอออร์ตาส่วนลง

เอออร์ตาขาลงส่วนอกให้แขนงเป็นหลอดเลือดแดงระหว่างซี่โครง (intercostal arteries) และหลอดเลือดแดงใต้ชายโครง (subcostal arteries) รวมถึงหลอดเลือดแดงหลอดลมซ้ายบนและล่าง (superior and inferior left bronchial arteries) และแขนงไปเลี้ยงหลอดอาหาร เมดิแอสตินัม และเยื่อหุ้มหัวใจ แขนงที่อยู่ด้านล่างสุด คือ หลอดเลือดแดงกะบังลมบน (superior phrenic arteries) ซึ่งให้เลือดไปเลี้ยงกะบังลม และหลอดเลือดแดงใต้ชายโครงของซี่โครงที่ 12[10]:195

เอออร์ตาส่วนท้อง

ดูบทความหลักที่: เอออร์ตาส่วนท้อง

เอออร์ตาส่วนท้องเริ่มต้นที่ช่องเอออร์ติก (aortic hiatus) ของกะบังลม ที่ระดับกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 12[11] ให้แขนงเป็นหลอดเลือดแดงเอว (lumbar arteries) และหลอดเลือดแดงมัสคูโลฟรีนิก (musculophrenic arteries), หลอดเลือดแดงไต (renal artery) และหลอดเลือดแดงหมวกไตกลาง (middle suprarenal artery), และหลอดแดงอวัยวะภายใน (ได้แก่ หลอดเลือดแดงท้อง หลอดเลือดแดงเยื่อแขวนลำไส้บนและล่าง) แล้วสิ้นสุดที่จุดแยกสองง่ามเอออร์ตา โดยให้แขนงปลายเป็นหลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วมซ้ายและขวา (left and right common iliac arteries) ที่จุดแยกสองง่ามนี้ ยังมีแขนงเล็ก ๆ คือ หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง (median sacral artery)[10]:331

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอออร์ตา http://www.unifr.ch/ifaa/Public/EntryPage/TA98%20T... http://www.emedicine.com/radio/topic44.htm http://education.yahoo.com/reference/gray/subjects... http://education.yahoo.com/reference/gray/subjects... http://fme.biostr.washington.edu/FME/index.jsp?fma... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28987432 //doi.org/10.1016%2Fj.emc.2017.07.003 http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php https://meshb.nlm.nih.gov/record/ui?ui=D001011 https://archive.org/details/atlasofhumananat00nett...