ต้นกำเนิดและการถ่ายทอด ของ เอไลโอพลาสต์

พลาสติดถูกตั้งสมมติฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากเหตุการณ์เอนโดซิมไบโอติกระหว่างยูแคริโอตโบราณและไซยาโนแบคทีเรียที่เป็นบรรพบุรุษของพลาสติดเมื่อกว่า 1 พันล้านปีก่อน ในเหตุการณ์นี้ไซยาโนแบคทีเรียถูกกลืนกินและถูกรักษาไว้เป็นศูนย์กลางกระบวนการเมแทบอลิซึมสำหรับการสังเคราะห์ด้วยแสง[8] หลักฐานนี้สามารถสังเกตได้ในลักษณะจีโนมอิสระของพลาสติดซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไซยาโนแบคทีเรียสมัยใหม่[9] นับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว จีโนมของพลาสติดได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีโนมของพลาสติดถูกถ่ายโอนไปสู่จีโนมในนิวเคลียส จีโนมของพลาสติดเก็บรหัสของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับตัวมันประมาณ 100 ถึง 2500 ชนิด[1]

เอไลโอพลาสต์เพิ่มจำนวนด้วยการแบ่งตัวออกเป็นสอง (binary fission) ซึ่งเป็นอิสระจากการแบ่งตัวของเซลล์แม่ อันเป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกถึงบรรพบุรุษที่เป็นแบคทีเรียเช่นเดียวกับพลาสติดส่วนใหญ่ การแบ่งตัวออกเป็นสองนี้เกิดขึ้นก่อนกระบวนการไซโทไคนีซิส (cytokinesis) โดยเอไลโอพลาสต์ที่แบ่งได้นี้จะถูกขนส่งไปยังเซลล์ลูกในฐานะส่วนหนึ่งของไซโทพลาสซึม[1]

เอไลโอพลาสต์มีพลาสโตม (จีโนมของพลาสติด; plastome, plastid genome) ร่วมกับพลาสติดทุกชนิดที่พบในเซลล์ อันเป็นผลมาจากการแปลงรูปไปมาระหว่างชนิด และในแองจิโอสเปิร์ม ฝ่ายแม่ (maternal) มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดพลาสโตมมากกว่า[5][7] พลาสโตมทางฝ่ายพ่อ (paternal) จะถูกแยกออกในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง คือ ถูกแยกออกระหว่างการพัฒนาละอองเรณู หรือระหว่างการสร้างหลอดละอองเรณู[7] ในระหว่างการพัฒนาละอองเรณู พลาสติดของฝ่ายพ่อจะถูกยับยั้งโดยไมโครฟิลาเมนท์ในโครงร่างเซลล์ก่อนที่จะมีการแบ่งตัวของไมโครสปอร์ หรือภายหลังการเสื่อมสลายของไมโครสปอร์[7] นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการถ่ายทอดพลาสติดจากทางฝ่ายพ่อในระหว่างกระบวนการสร้างหลอดละอองเรณู (pollen tube) ซึ่งพลาสติดจะถูกแยกออกจากเซลล์อสุจิในขณะที่พวกมันหลอมรวมกับเซลล์ไข่[7]

ใกล้เคียง

เอไลโอพลาสต์ เอไคโนเดอร์มาตา เอไลจาห์ วูด เอไลจาห์ คลาร์ก เอไลจาห์ คลาร์ก (นักมวยไทย) เอลโดราดูบิสเนสส์ทาวเวอร์ เอลโดเรต เอเลโอโนเรอ ฮับส์บูร์ก-โลทริงเงิน เอลกันโตเดลโลโก