เนื้อหา ของ แก่นพุทธศาสน์

หนังสือแก่นพุทธศาสน์ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพสุขภาพใจ และได้รับยกย่องเป็นหนังสือดีเด่นประจำปี จากองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2508 ทำให้มีการเผยแพร่หนังสือนี้สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง และยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เนื้อหาในหนังสือแก่นพุทธศาสน์กล่าวถึงหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มาจากคำที่พระพุทธเจ้าตอบแก่ผู้ทูลถามว่าหากจะสรุปพระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัสไว้ เป็นประโยคสั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่. พระพุทธองค์ตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" ซึ่งแปลว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (ปรากฏอยู่ในพระบาลี มัชฌิมนิกาย)

แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่รวบรวมปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุที่แสดง ณ โรงพยาบาลศิริราช รวม 3 ครั้ง ได้แก่:

  1. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2504
  2. ความว่าง ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือ เรื่องสุญญตา เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2505
  3. วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส...ปรกติ กระทบ จะดับจิต เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2505
  4. ยอดปรารถนาของมนุษย์ จิตวุ่นทำการงานเป็นทุกข์ จิตว่างทำการงานสนุกไปหมด..

๑. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

(เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2504: หัวใจของพุทธศาสนา คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามากรุงเทพฯเพื่อประกาศธรรมะ คณะนายแพทย์แห่งโรงพยาบาลศิริราช ร่วมด้วยนักศึกษาวิชาแพทย์ ณ โรงพย่าบาลนั้น ได้นิมนต์ท่านแสดงปาฐกถา รวม ๓ ครั้ง ปรากฎว่า ข้อความที่ท่านแสดงนี้คือ ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องย่อ เอาแต่แก่นของพุทธธรรมมากล่าว เหมือนกับบอกว่า สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธควรศึกษา ควรปฏิบัติ อยู่ที่ตรงนี้เป็นการตัดปัญหายุ่งยาก มีประการต่างๆ ที่ขอบถกเถียงกัน ในเรื่องหลักพุทธธรรม ท่านนำพระพุทธดำรัสมาบอกให้ทราบว่า "ใจความแท้ๆ " นั้นคืออะไร?

๒. ความว่าง

(เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2505: ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือ เรื่องสุญญตา) ต่อมาท่านแสดงอีกครั้งหนึ่ง เรื่อง ความว่าง อันเป็น ใจความสำคัญที่ควรสนใจมากเราได้ยินพุทธภาษิตบทหนึ่งว่านิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ อันแปลว่า พระนิพพาน เป็นความว่างอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ทราบชัดว่า ว่างอย่างไร ความว่างอยู่ที่ตรงไหน ถ้าได้ฟังกัณฑ์นี้อันว่าด้วยความว่างแล้ว จะชัดเจนขึ้นและมองเห็นว่า "พระนิพพาน" เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะเข้าถึงได้ในชีวิตนี้

๓. วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง

(เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2505: การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส...ปรกติ กระทบ จะดับจิต) ครั้งต่อมา ท่านพูดถึงเรื่อง วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง เป็นการชี้ทางให้เดินตรงไปตามแนวนี้ เป็นเรื่องที่ชาวโลกผู้หมกมุ่นในการงานควรศึกษาพึงนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติตนตามวิธีเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างจะช่วยให้อยู่อย่างสงบป้องกันโรคทางวิญญาณได้เป็นอย่างดี

ปาฐกถาทั้งสามครั้งนี้ เป็นที่พอใจของคณะนายแพทย์เป็นอย่างมาก จึงได้ถอดจากเครื่องอัดเสียงมาเป็นตัวหนังสืออ่านแล้วก็พอใจใคร่จะให้ได้อ่านกันทั่วถึงจึงคิดกันว่าควรจะพิมพ์เป็นเล่มให้แพร่หลาย ประจวบกับท่านพุทธทาส กำลังสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ อยู่ นายแพทย์ ผู้หนึ่งได้นำความเรื่องนี้ไปหารืออาตมา อาตมาเห็นด้วย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ หนังสือเรื่องนี้ เป็นธรรมส่วนลึกในพระพุทธศาสนา ย่อมยากบ้างเป็นธรรมดาผู้อ่านจึงต้องอ่านด้วยความตั้งใจ อ่านช้าๆ คิดตามไปด้วย อย่าทิ้งเสียเมื่ออ่านบทแรกแล้วไม่เข้าใจจงพยายามอ่านแล้วอ่านอีก อ่านด้วยจิตใจที่เยือกเย็น สงบ จนเข้าใจชัด ท่านจะได้รับประโยชน์ตามควรอย่างคุ้มค่ากับที่ท่านได้พบพระพุทธศาสนา อย่างน้อยๆ ท่านก็รู้เองว่า "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" นั้นอยู่ตรงนี้เอง.

แหล่งที่มา

WikiPedia: แก่นพุทธศาสน์ http://www.buddhadasa.com http://diarylove.com/forum_posts.asp?TID=14973&PID... http://www.rosenini.com/suanmokkh/index.htm http://www.trilakbooks.com/product/320420/%E0%B9%8... http://www.dhammatalks.net/index2.htm#Thai http://www.buddhadasa.org http://kowit.org/heartofbuddhism/bkindx01.htm http://www.pharm.chula.ac.th/thaihealth/Websit_Idi... https://sites.google.com/site/mp3vue/ https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Buddha...