ประวัติ ของ แขวงพิเศษของโตเกียว

ก่อนปีค.ศ. 1943 กรุงโตเกียวถือเป็นจังหวัดหนึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดอื่นๆ และในจังหวัดโตเกียวก็ประกอบด้วยหลายๆเทศบาล เทศบาลเมืองโตเกียวถือเป็นหนึ่งในนั้นและถือเป็นเมืองเอกของจังหวัดโตเกียว และในเมืองโตเกียวก็แบ่งออกเป็น 35 เขต

วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1943 มีการยุบเทศบาลเมืองโตเกียว จังหวัดโตเกียวถูกยกฐานะเป็นมหานครโตเกียว ทั้ง 35 เขตถูกโอนไปขึ้นตรงกับศาลาว่าการมหานครโตเกียว

วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1947 จากเดิมที่เมืองโตเกียวมี 35 เขต ถึงแบ่งใหม่ให้เป็น 22 เขต

วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น เป็นผลให้เขตทั้ง 22 เขตเดิม ยกฐานะขึ้นเป็นแขวงพิเศษของมหานครโตเกียว

วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการประกาศให้แขวงเนะริมะ เป็นแขวงการปกครองพิเศษที่ 23 ของกรุงโตเกียว

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แขวงพิเศษของกรุงโตเกียวได้รับอำนาจบริหารที่อิสระกว่าเทศบาลในจังหวัดอื่นๆ แต่ละเขตสามารถเลือกผู้ว่าการแขวง (区長 kuchō) และสภาเขต (区議会 kugikai) ของแขวงตัวเองได้

ในค.ศ. 2000 รัฐสภาของญี่ปุ่นได้มอบอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น (地方公共団体 ชิโฮ โคเกียว ดันไต) ให้เขตการปกครองพิเศษทั้ง 23 แขวงของกรุงโตเกียว ส่งผลให้แต่ละเขต (区 กุ) มีฐานะเทียบเท่ากับเมือง (市 ชิ)

แขวงพิเศษต่างๆ มีขนาดต่างกันตั้งแต่ 10-60 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรก็ต่างกันตั้งแต่ 40,000-830,000 คน บางเขตมีเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยการถมทะเล เขตที่มีประชากรมากที่สุดคือเขตเซะตะงะยะ (世田谷区 Setagaya-ku) และเขตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเขตโอตะ

จำนวนประชากรของแขวงพิเศษทั้ง 23 แขวงของกรุงโตเกียวจากการสำรวจจำนวนประชากรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2005 มีจำนวน 8,483,140 คน คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรของกรุงโตเกียว และ 1 ใน 4 ของประชาการในเขตโตเกียวและปริมณฑล (首都圏 ชุโตเก็ง) มีความหนาแน่นประชากร 13,800 คนต่อตารางกิโลเมตร


แผนที่จังหวัดโตเกียวในปัจจุบัน สีเหลืองแสดงถึง 23 แขวงปกครองพิเศษในโตเกียว และสีเขียวแสดงถึงเมืองและหมู่บ้านอื่นในจังหวัดโตเกียว