ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ แคว้นพะเยา

แคว้นเงินยาง

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญางำเมือง และพญามังราย ตามลำดับ

แคว้นพะเยามีความสัมพันธ์กับแคว้นเงินยางด้วยมีปฐมกษัตริย์มาจากเมืองเงินยางดังกล่าว การดำเนินการระหว่างสองรัฐจึงเป็นเป็นในฐานะเครือญาติ เมื่อมีศึกสงครามทั้งสองรัฐก็จะช่วยกันปกป้องบ้านเมือง เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงขุนเจืองครองเมืองพะเยาได้ไปช่วยเมืองเงินยางปราบแกว หลังจากทำสงครามไล่แกวแล้ว ขุนเจืองจึงขึ้นครองเมืองเงินยางสืบมา หรือกรณีของพระชายาของพญางำเมืองคือ นางอั้วเชียงแสน จากชื่อแสดงให้เห็นว่า นางอั้วเป็นธิดาจากเมืองเชียงแสน นั่นคือพะเยาและเงินยางมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แนบแน่นผ่านการเสกสมรส ด้วยเหตุนี้แคว้นเงินยางจึงเป็นทั้งพระสหายและพระประยูรญาติสนิทสืบเนื่องหลายชั่วอายุคน[15]

อาณาจักรล้านนา

พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพญามังรายแห่งล้านนา โดยใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ระบุว่า พญางำเมืองกับพญามังรายเป็นสหายกันมาแต่รุ่นปู่[5] การเป็นพระสหายของสามกษัตริย์ทำให้เกิดการป้องกันภัยจากการรุกรานของมองโกล ด้วยการทำสนธิสัญญาสามกษัตริย์ในปี พ.ศ. 1830 ทั้งที่ก่อนหน้านี้พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพะเยาในปี พ.ศ. 1819 ซึ่งไม่ได้รบกันแต่กลับมีการเจรจากัน[6]

แม้พะเยาและล้านนาจะมีการเสกสมรสเพื่อสร้างความสัมพันธ์เครือญาติกัน ดังกรณีของนางแก้วพอตาธิดาพญาไชยสงครามกับท้าวคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพะเยา แต่พะเยาก็ถูกล้านนาหักหลังในสมัยพญาคำฟูที่ได้รับความร่วมมือกับนครรัฐน่าน และหลังจากนั้นเป็นต้นมาพะเยาจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนามาแต่นั้น[4]

อื่น ๆ

  • อาณาจักรสุโขทัย — พญางำเมืองได้มีสัมพันธภาพกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ด้วยทรงศึกษาที่เมืองละโว้ร่วมรุ่นกัน[15] ทั้งมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติด้วยพระราชธิดาในพญางำเมืองเสกสมรสกับบุคคลชนชั้นปกครองของสุโขทัย[16] ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีเสนอว่าคือพระยาเลอไทย[17] มีพระราชโอรสด้วยกันคือ พ่องำเมือง
  • นครรัฐน่าน — เคยถูกพญางำเมืองยึดครอง พร้อมกับส่งพระชายาและพระราชบุตรปกครองอยู่หลายปี แต่ได้อิสระในหลายปีต่อมา และภายหลังได้ร่วมมือกับล้านนาปล้นเมืองพะเยาจนเป็นสาเหตุให้แคว้นพะเยาสลายตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา[15]
  • แคว้นหริภุญชัย — เผยแผ่ศาสนาพุทธมายังแคว้นพะเยาจนเป็นที่แพร่หลายในรัชกาลพญางำเมือง[13]