การปะทะ ของ แถบดาวเคราะห์น้อย

แสงจักรราศี ที่เกิดจากฝุ่นในแถบหลัก

จำนวนประชากรดาวเคราะห์น้อยอันหนาแน่นในแถบหลักทำให้มีสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสูงมาก การปะทะกันระหว่างดาวเคราะห์น้อยสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ (ตามมาตรเวลาในทางดาราศาสตร์) ประมาณว่าดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักที่มีขนาดรัศมีเฉลี่ยมากกว่า 10 กิโลเมตรอาจมีการปะทะกันหนึ่งครั้งในทุกๆ 10 ล้านปี[52] ผลจากการปะทะทำให้ดาวเคราะห์น้อยแตกออกเป็นชิ้นที่เล็กลงหลายชิ้น (เป็นที่มาของตระกูลดาวเคราะห์น้อย) ในทางกลับกัน การปะทะที่เกิดขึ้นด้วยความเร็วสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำอาจทำให้ดาวเคราะห์น้อยสองดวงรวมเข้าเป็นดวงเดียวก็ได้ กระบวนการปะทะกันเหล่านี้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 4 พันล้านปีและทำให้ประชากรดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักปัจจุบันแตกต่างไปจากประชากรในยุคแรกๆ อย่างมาก

นอกเหนือจากตัวดาวเคราะห์น้อยเองแล้ว ในแถบหลักยังมีแถบฝุ่นจำนวนมากที่มีขนาดอนุภาคเพียงไม่กี่ร้อยไมโครเมตร เศษฝุ่นละเอียดเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการปะทะระหว่างดาวเคราะห์น้อย อีกส่วนหนึ่งจากการที่ดาวเคราะห์น้อยถูกอุกกาบาตขนาดเล็กพุ่งชน แรงดันจากการแผ่รังสีสุริยะทำให้เศษฝุ่นเหล่านี้ค่อยๆ หมุนควงเข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์พอยน์ทิง-โรเบิร์ตสัน[53]

ฝุ่นละเอียดของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ ประกอบกับสารที่ดาวหางปล่อยทิ้งออกมา เป็นต้นเหตุของการเกิดแสงจักรราศี แสงสว่างเรืองรองจางๆ นี้สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืนในตำแหน่งสุริยวิถีหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อนุภาคที่ทำให้เกิดแสงจักรราศีที่มองเห็นได้มีขนาดรัศมีเฉลี่ยประมาณ 40 ไมโครเมตร อายุเฉลี่ยของอนุภาคเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 700,000 ปี ดังนั้นเพื่อจะให้มีแถบฝุ่นนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะต้องมีอนุภาคใหม่ๆ เกิดขึ้นจากแถบหลักอย่างต่อเนื่อง[53]

ดาวตก

เศษดินและหินจากการปะทะกันของดาวเคราะห์น้อยอาจกลายมาเป็นสะเก็ดดาวที่หลุดเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลกได้[54] มากกว่า 99.8% ของสะเก็ดดาวจำนวนกว่า 30,000 ดวงที่พบบนโลกนับถึงปัจจุบันเชื่อว่ามีกำเนิดมาจากแถบดาวเคราะห์น้อย[55] การศึกษาร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐเชคในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ได้แสดงให้เห็นถึงการปะทะระหว่างวัตถุขนาดใหญ่กับดาวเคราะห์น้อย 298 Baptistina ซึ่งทำให้เกิดชิ้นส่วนมากมายขึ้นในระบบสุริยะชั้นใน เชื่อว่าเศษชิ้นส่วนเหล่านี้น่าจะเป็นต้นเหตุของแอ่งไทโคบนดวงจันทร์ และแอ่ง Chicxulub ในประเทศเม็กซิโก อันเป็นซากที่หลงเหลืออยู่จากการปะทะของวัตถุขนาดใหญ่มากที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว[56]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แถบดาวเคราะห์น้อย http://abc.net.au/science/news/stories/s843594.htm http://www.news.utoronto.ca/bin6/070803-3321.asp http://www.astronomy.com/asy/default.aspx?c=a&id=4... http://www.astronomycast.com/astronomy/episode-55-... http://www.etymonline.com/index.php?search=asteroi... http://www.ingentaconnect.com/content/els/00320633... http://space.newscientist.com/channel/solar-system... http://www.orbitsimulator.com/gravity/articles/cer... http://www.physorg.com/news108218928.html http://www.solstation.com/stars/asteroid.htm