ลำดับเหตุการณ์ ของ แนวรบด้านตะวันออก_(สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

ค.ศ. 1914

เมื่อสงครามปะทุ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงแต่งตั้งพระภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) แกรนด์ดยุคนิโคลัส เป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิรัสเซียสูงสุด เมื่อระดมพลแล้ว กองทัพรัสเซียมีทหารราว 1.2 ล้านนาย ประกอบด้วย 70 กองพลทหารราบ และ 24 กองพลทหารม้า พร้อมปืนใหญ่อีกเกือบ 7,900 กระบอก กองทัพเหล่านี้ถูกแบ่งออกดังนี้ 32 กองพลทหารราบ และ 10.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปปฏิบัติต่อต้านเยอรมนี, 46 กองพลทหารราบ และ 18.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปปฏิบัติต่อต้านออสเตรีย-ฮังการี, 19.5 กองพลทหารราบ และ 5.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปป้องกันฝั่งทะเลบอลติกและทะเลดำ ส่วน กองพลทหารราบอีก 17 กองพล และกองพลทหารม้าอีก 3.5 กองพล ถูกส่งเข้ามาจากไซบีเรียและเตอร์กีสถาน

สงครามในทางตะวันออกเริ่มต้นขึ้นด้วยการรุกรานปรัสเซียตะวันออก และจังหวัดกาลิเซียของออสเตรีย-ฮังการี ของรัสเซีย ความพยายามแรกกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วหลังยุทธการเทนเนนแบร์ก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ส่วนการรุกล้ำที่สองประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยรัสเซียควบคุมกาลิเซียเกือบทั้งหมดเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ภายใต้การบังคับบัญชาของนิโคไล อีวานอฟ และอเล็กเซย์ บรูซิลอฟ ฝ่ายรัสเซียชนะในยุทธการกาลิเซียในเดือนกันยายนและเริ่มการล้อมเพทเซมมาย (Przemysl) ปราการต่อไปบนเส้นทางสู่คราคูฟ (Kraków)

ความสำเร็จแต่เริ่มต้นของรัสเซียใน ค.ศ. 1914 บนชายแดนออสเตรีย-ฮังการีนั้น เป็นเหตุให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางกังวลและทำให้กองทัพเยอรมนีจำนวนมากถูกส่งมาทางตะวันออก เพื่อปลดเปลื้องแรงกดดันต่อออสเตรีย นำไปสู่การจัดตั้งกองทัพที่เก้าของเยอรมนีใหม่ เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1914 ความสนใจหลักของการสู้รบเปลี่ยนไปเป็นส่วนกลางของโปแลนด์ ทางตะวันออกของแม่น้ำวิสตูลา ในยุทธการแม่น้ำวิสตูลาในเดือนตุลาคมและยุทธการวูทช์ (Łódź) ฝ่ายเยอรมนีประสบความสำเร็จเล็กน้อย แต่อย่างน้อยก็สามารถกันรัสเซียให้อยู่ในระยะปลอดภัยได้

กองทัพรัสเซียและออสเตรีย-ฮังการียังปะทะกันต่อไปทั้งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและบริเวณใกล้เคียง ตลอดฤดูหนาว ค.ศ. 1914-1915 ปราการเพทเซมมายยังไม่ถูกยึดอยู่ลึกเข้าไปหลังแนวข้าศึกตลอดช่วงเวลานี้ ขณะที่รัสเซียเลี่ยงมันไปเพื่อโจมตีกองทัพออสเตรีย-ฮังการีไกลออกไปทางตะวันตก รัสเซียมีความคืบหน้าบ้าง โดยข้ามคาร์พาเธียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ค.ศ. 1915 แต่หลังจากนั้น เยอรมนีได้ส่งความช่วยเหลือมาและหยุดยั้งการรุกเพิ่มเติมของรัสเซีย ซึ่งระหว่างนั้น เพทเซมมายเกือบจะถูกทำลายทั้งหมดและการล้อมเพทเซมมายยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของออสเตรีย

ค.ศ. 1915

ใน ค.ศ. 1915 กองบัญชาการเยอรมนีตัดสินใจทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่บนแนวรบด้านตะวันออก และย้ายกำลังขนาดใหญ่พอสมควรมาจากทางตะวันตก ในการกำจัดภัยคุกคามรัสเซีย ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการทัพใน ค.ศ. 1915 ด้วยการรุกกอลิซ-ทาร์นอฟในกาลิเซียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 หลังยุทธการทะเลสาบมาซูเรียครั้งที่สอง กำลังเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีในแนวรบด้านตะวันออกดำเนินการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาร่วมกัน ไม่นานการรุกจะเปลี่ยนไปเป็นการคืบหน้าทั่วไปและตามด้วยการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ของกองทัพรัสเซีย สาเหตุของการผันกลับนี้คือข้อผิดพลาดในแง่ยุทธวิธี เช่น การขาดประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ทางเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่และเครื่องกระสุน เฉพาะจนถึง ค.ศ. 1916 ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสงครามรัสเซียเพิ่มการผลิตยุทธภัณฑ์ และพัฒนาสถานการณ์ด้านกำลังบำรุงได้

ถึงกลาง ค.ศ. 1915 รัสเซียถูกขับออกจากโปแลนด์และถูกผลักดันหลายร้อยกิโลเมตรจากชายแดนของประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งเป็นการกำจัดภัยคุกคามการรุกรานเยอรมนีหรือออสเตรีย-ฮังการีของรัสเซีย ปลาย ค.ศ. 1915 การรุกของเยอรมนีและออสเตรียถูกหยุดที่แนวริกา–Jakobstadt–Dvinsk–Baranovichi–Pinsk–Dubno–Ternopil แนวรบนี้โดยคร่าว ๆ ทั่วไปแล้วไม่เปลี่ยนแปลงกระทั่งจักรวรรดิรัสเซียล่มสลายใน ค.ศ. 1917

ค.ศ. 1916

จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 รัสเซียมี 140 กองพลทหารราบ เทียบกับออสเตรียและเยอรมนีที่มี 105 กองพลทหารราบ และรัสเซียมี 40 กองพลทหารม้า เทียบกับออสเตรียและเยอรมนีที่มี 22 กองพลทหารม้า การระดมอุตสาหกรรมและการเพิ่มการส่งออกทำให้กองทัพรัสเซียยังคงเป็นฝ่ายรุกต่อไปได้ การโจมตีขนาดใหญ่บนแนวรบด้านตะวันตกเฉียงใต้ภายใต้การนำของพลเอกอเล็กเซย์ บรูซิลอฟ (เรียกว่าการรุกบรูซิลอฟ) เริ่มในเดือนมิถุนายน การโจมตี มีเป้าหมายต่อส่วนของแนวรบที่ควบคุมโดยออสเตรีย-ฮังการี ประสบความสำเร็จน่าประทับใจในช่วงแรก กองทัพรัสเซียรุกเข้าไปลึก 50-70 กิโลเมตร จับกุมเชลยได้หลายแสนคน และปืนใหญ่อีกหลายร้อยกระบอก การมาถึงของกำลังเสริมข้าศึก ความพ่ายแพ้ของโรมาเนีย ความล้มเหลวของพันธมิตรตะวันตกในการสั่นสะเทือนการป้องกันของเยอรมนี ทำให้การรุกของรัสเซียสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน

วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1916 โรมาเนียเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายไตรภาคี และทำการรุกประสบความสำเร็จกระทั่งเดือนกันายน หลังจากนั้น โรมาเนียเริ่มประสบความสูญเสียอย่างหนักและพ่ายแพ้หลายครั้งจากกำลังเยอรมนี-ออสเตรีย-บัลแกเรีย-ออตโตมัน เพราะกองทัพโรมาเนียมียุทโธปกรณ์เลวและพันธมิตรรัสเซียให้การสนับสนุนบนแนวรบเล็กน้อย

ค.ศ. 1917–1918

จนถึง ค.ศ. 1917 เศรษฐกิจรัสเซียใกล้จะล่มสลายภายใต้ความพยายามของสงครามที่ตึงเกินไป ขณะที่ยุทโธปกรณ์ของกองทัพรัสเซียแท้จริงแล้วพัฒนาขึ้นเนื่องจากการขยายอุตสาหกรรมสงคราม การขาดแคลนอาหารในใจกลางนครที่สำคัญทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น นำไปสู่การสละราชสมบัติของซาร์และการปฏิวัติกุมภาพันธ์ ความสูญเสียจำนวนมากในสงครามยังสร้างความไม่พอใจและทัศนะขัดขืนในกองทัพ ซึ่งจุดชนวนโดยพรรคบอลเชวิคผู้ปลุกปั่น และนโยบายปล่อยเสรีใหม่ของรัฐบาลเฉพาะกาลรัสเซียต่อกองทัพ โดยการลดอาณัติของนายทหารโดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางครอบคลุมแก่ "คณะกรรมาธิการทหาร" และการยกเลิกโทษประหารชีวิต) การรุกครั้งสุดท้ายของกองทัพรัสเซียในสงคราม คือ การรุกเคเรนสกีที่เกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ และไม่สัมฤทธิ์ผลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917

วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 พรรคบอลเชวิคที่เป็นคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจการปกครองอยู่ภายใต้การนำของวลาดีมีร์ เลนิน หัวหน้าพรรค รัฐบาลใหม่บอลเชวิคของเลนินพยายามยุติสงครามแต่เยอรมนีเรียกร้องให้ยกดินแดนผืนใหญ่ให้ ท้ายที่สุด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 มีการลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ และแนวรบด้านตะวันออกยุติการเป็นเขตสงคราม แม้สนธิสัญญาดังกล่าวในทางปฏิบัติจะเลิกใช้ก่อนถึงสิ้นปี แต่ได้บรรเทาภัยแก่บอลเชวิค ซึ่งกำลังติดพันอยู่ในสงครามกลางเมือง และรับรองเอกราชของฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ยูเครน และลิทัวเนีย เยอรมนีสามารถโอนกองกำลังขนาดใหญ่ไปทางตะวันตกเพื่อโจมตีในฝรั่งเศสในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918 อย่างไรก็ตาม การรุกดังกล่าวไม่อาจเจาะผ่านอย่างเด็ดขาดได้ และการมาถึงของทหารอเมริกันที่มากขึ้นทุกทีในยุโรป ทำให้ข้อได้เปรียบของเยอรมนีหมดไป แม้หลังรัสเซียจะล่มสลายลงแล้ว ทหารเยอรมันนับล้านนายยังต้องประจำอยู่ทางตะวันออกกระทั่งสงครามยุติ ในความพยายามที่จะจัดการกับดินแดนส่วนที่เพิ่มเติมแก่จักรวรรดิเยอรมันในยุโรปที่มีอายุสั้น ๆ เท่านั้น ในตอนท้าย เยอรมนีและออสเตรียสูญเสียดินแดนที่ยึดครองได้ทั้งหมด และนอกเหนือจากนั้น ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาหลายฉบับที่ลงนามหลังสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. 1918

ใกล้เคียง

แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่สอง) แนวรบด้านตะวันตก (สงครามโลกครั้งที่สอง) แนวรบด้านตะวันตก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง แนวรบยูเครนที่ 1 แนวรบเบียโลรัสเซียที่ 1 แนวรบทะเลทราย แนวรบด้านเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลาง แนวรบด้านตะวันออกของสงครามกลางเมืองอเมริกา