ภาพยนตร์ ของ แผลเก่า

ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า (2497)

ภาพยนตร์ แผลเก่า (2483)

ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ฉบับ พ.ศ. 2483 เป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 35 มม. ขาวดำ พากย์สด[1] สร้างโดย บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ นำแสดงโดย สมพงษ์ จันทร์ประภา [2] และ อบเชย ชุ่มพันธ์ กำกับและประพันธ์เพลงประกอบโดยพรานบูรพ์ เพลงประกอบทีมีชื่อเสียงคือเพลงขวัญของเรียม ขับร้องโดย ส่งศรี จันทรประภา และเพลงเคียงเรียม, สั่งเรียม, ลำนำแผลเก่า

ภาพยนตร์ แผลเก่า (2489)

ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ฉบับ พ.ศ. 2489 เป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม.สีธรรมชาติ พากย์สด สร้างโดย บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ กำกับโดย อรรถ อรรถไกวัลวที นำแสดงโดย ชีพ ชูพงษ์ (ท้วม ทรนง) และ พรทิพย์ โกศลมัชกิช เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ทำรายได้สามแสนบาท [2][3]

ภาพยนตร์ แผลเก่า (2520)

ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า (2520)ขวัญกับเรียม

ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ผลงานกำกับของ เชิด ทรงศรี เป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 70 มม.สีอีสต์แมน เสียงพากย์ในฟิล์ม สร้างโดย เชิดไชยภาพยนตร์ จัดจำหน่ายโดย สหมงคลฟิล์ม [4] นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี รับบท "ขวัญ", นันทนา เงากระจ่าง รับบท "เรียม" ร่วมด้วย ส. อาสนจินดา, ชลิต เฟื่องอารมย์, เศรษฐา ศิระฉายา และศรินทิพย์ ศิริวรรณ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ใช้คำโฆษณาหนังว่า "เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก" เพลงประกอบเพิ่มจากเดิม คือ แสนแสบ ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร (ชรินทร์ นันทนาคร เคยขับร้องบันทึกแผ่นเสียง เมื่อ พ.ศ. 2503) เพลงอื่นๆ ได้แก่ ลำนำแผลเก่า ขับร้องโดย ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และ ไพรวัลย์ ลูกเพชร, กุหลาบสีเขียว ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์

เนื่องจากเป็นเรื่องแนวย้อนยุค ในขณะที่ผู้สร้างส่วนใหญ่นิยมสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัย จึงไม่มีตัวแทนจำหน่ายหรือสายหนังรายใดสนใจเลย แต่เมื่อออกฉาย ปรากฏว่าเป็นที่นิยม ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย ภาพยนตร์ได้รับการต้อนรับจากคนดูหรือสังคมไทยอย่างเป็นประวัติการณ์ ได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ รวมทั้งโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

พ.ศ. 2524 "แผลเก่า" ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส

พ.ศ. 2541 "แผลเก่า" ได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Film and Television Archive) ร่วมกับนิตยสาร Sight and Sound ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลก โดยมีการประกาศผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544

พ.ศ. 2548 หอภาพยนตร์แห่งชาติ จัดตั้งโครงการ 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู โดยจัดฉายวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในโครงการ [5]

พ.ศ. 2550 มูลนิธิหนังไทยร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ นำผลงานภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรี จำนวน 5 เรื่อง รวมทั้งแผลเก่า มาจัดฉายอีกครั้งในระหว่างวันที่ 21 – 30 กันยายน พ.ศ. 2550 เพื่อนำรายได้ไปจัดสร้างประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของเชิด ทรงศรี เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา[6]

พ.ศ. 2554 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ [7]

พ.ศ. 2561 หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้นำ"แผลเก่า" กลับมาฉายอีกครั้งในโครงการ "ทึ่ง....หนังโลก" ฉายในวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 เวลา 20.00 น. ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ฉายด้วยระบบดิจิตอล DCP โดยหอภาพยนตร์ฯทำการบูรณะร่วมกับแลปฟิล์มที่ประเทศอิตาลี โดยต้นฉบับหนังดังกล่าว มาจากฟิล์มเนกาทีฟของคุณเชิดทรงศรี ซึ่งเคยมอบให้กับหอภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2531

ภาพยนตร์ แผลเก่า (2557)

สำหรับบทความหลัก ดูที่ แผลเก่า (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2557)