ความเสียหายและผลกระทบ ของ แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ_พ.ศ._2554

ความความเสียหายจากสึนามิระหว่างเซ็นไดกับอ่าวเซ็นไดพาโนรามาของพื้นที่ริกุเซ็นทากาตะซึ่งถูกคลื่นกวาดพาไป

ระดับและขอบเขตความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดตามมานั้นใหญ่หลวง โดยความเสียหายส่วนใหญ่นั้นเป็นผลจากคลื่นสึนามิ คลิปวิดีโอของเมืองที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดแสดงให้เห็นภาพของเมืองที่เหลือเพียงเศษซาก ซึ่งแทบจะไม่เหลือส่วนใดของเมืองเลยที่ยังมีสิ่งปลูกสร้างเหลืออยู่[144] การประเมินขอบเขตมูลค่าความเสียหายอยู่ในระดับหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบก่อนและหลังในพื้นที่ที่ถูกทำลายล้างนั้นแสดงให้เห็นความเสียหายอย่างมโหฬารที่เกิดในหลายพื้นที่[145][146] แม้ญี่ปุ่นจะลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับกำแพงกั้นน้ำต่อต้านสึนามิ ซึ่งลากผ่านอย่างน้อย 40% ของแนวชายฝั่งทั้งหมด 34,751 กิโลเมตร และมีความสูงถึง 12 เมตรก็ตาม แต่คลื่นสึนามิก็เพียงทะลักข้ามยอดกำแพงกั้นน้ำบางส่วน และทำให้กำแพงบางแห่งพังทลาย[147]

สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554 ว่า มีอาคาร 45,7000 หลังถูกทำลาย และอีก 144,300 หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ อาคารที่ได้รับความเสียหายนั้น ประกอบด้วย 29,500 หลังในจังหวัดมิยะงิ 12,500 หลังในจังหวัดอิวาเตะ และ 2,400 หลังในจังหวัดฟูกูชิมะ[148] โรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า 20 เตียง 300 แห่งในโทโฮกุได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว โดยมี 11 โรงถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง[149] แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิก่อให้เกิดกองวัสดุก่อสร้างและซากปรักหักพังที่ประเมินไว้ 24-25 ล้านตันในญี่ปุ่น[150][151]

มีการประเมินว่ารถยนต์และรถบรรทุกกว่า 230,000 คน ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไปในภัยพิบัติ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาวจังหวัดอิวาเตะ มิยางิ และฟูกูชิมะ ได้ร้องขอจดทะเบียบยานพาหนะออกจากระบบ (deregistration) กว่า 15,000 คันหรือลำ หมายความว่า เจ้าของยานพาหนะเหล่านี้ทราบว่าซ่อมแซมไม่ได้หรือเรือไม่อาจกู้ได้[152]

ความสูญเสีย

ในบรรดาศพ 13,135 ศพที่ถูกเก็บกู้จนถึงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 กว่า 12,143 ศพ หรือกว่า 92.5% เสียชีวิตเพราะจมน้ำ เหยื่ออายุ 60 ปีหรือมากกว่า คิดเป็น 65.2% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และ 24% ของเหยื่อทั้งหมดอยู่ในวัยเจ็ดสิบ[153] จนถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น แถลงว่า กระทรวงฯ ทราบว่ามีเด็กอย่างน้อย 82 คนกลายเป็นเด็กกำพร้าจากภัยพิบัติดังกล่าว[154] แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ จนถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 คร่าชีวิตนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายไป 378 คน และมีผู้สูญหายอีก 158 คน[155] ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า มีชาวต่างชาติเสียชีวิตสิบเก้าคน[156] จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นเสียชีวิตไปสามนาย ขณะปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัยในโทโฮกุ[157]

คลื่นสึนามิยังมีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายศพนอกประเทศญี่ปุ่น ชายคนหนึ่งเสียชีวิตในจายาปุระ ปาปัว อินโดนีเซีย หลังถูกคลื่นกวาดลงทะเลไป[158] ชายซึ่งกล่าวกันว่าพยายามถ่ายภาพคลื่นสึนามิที่กำลังถาโถมเข้ามาที่ปากแม่น้ำแคลมัธ (Klamath) ทางใต้ของนครครีเซนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกกวาดลงทะเลไป[159][160][161] ร่างไร้ชีวิตของเขาถูกพบเมื่อวันที่ 2 เมษายน ตามหาดโอเชียนในฟอร์ทสตีเฟนส์ รัฐออริกอน ห่างไปทางเหนือ 530 กิโลเมตร[162][163]

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่งและแห่งที่สอง โอนางาวะ และโทไก ซึ่งประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ทั้งสิ้น 11 เตา ถูกปิดลงอัตโนมัติหลังแผ่นดินไหว[164] ส่วนฮิงาชิโกริ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน ปิดตัวลงไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อตรวจสอบตามกำหนด ระบบทำความเย็นนั้นจำเป็นเพื่อกำจัดความร้อนจากการสลายหลังเครื่องปฏิกรณ์ถูกปิดลง และเพื่อรักษาบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว กระบวนการหล่อเย็นสำรองได้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลฉุกเฉินที่โรงไฟฟ้า และที่โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วร็อกคาโช (Rokkasho)[165] ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะทั้งสองแห่ง คลื่นสึนามิถาโถมข้ามยอดกำแพงกั้นน้ำและทำลายระบบพลังงานดีเซลสำรอง ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงที่ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง รวมทั้งเกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ขึ้นสามครั้งและการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี มีผู้ถูกอพยพไปมากกว่า 200,000 คน[166] หลังจากความพยายามลดอุณหภูมิไม่ประสบผลมาเกือบสัปดาห์ จึงมีการใช้รถดับเพลิงและเฮลิคอปเตอร์ในการเทน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ [167][168]

เมื่อวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ย่างเข้าสู่เดือนที่สอง ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่งมิใช่อุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุด แต่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุด[169] การวิเคราะห์ภายหลังบ่งชี้ว่าเครื่องปฏิกรณ์สามเครื่อง (หน่วยที่ 1, 2 และ 3) หลอมละลายและน้ำหล่อเย็นยังคงรั่วไหล[15] จนถึงฤดูร้อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม และหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ต้องพ้นจากตำแหน่งไป[170]

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงเครื่องปฏิกรณ์ทั้งหกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง

ญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังระบบหล่อเย็นล้มเหลวที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงถูกอพยพไป[171][172] เจ้าหน้าที่ทางการจากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายงานระดับกัมมันตภาพรังสีในโรงไฟฟ้าสูงขึ้นมากกว่าปกติถึง 1,000 เท่า[173] และระดับกัมมันตภาพรังสีนอกโรงไฟฟ้าสูงถึง 8 เท่าจากปกติ[174] ภายหลัง ยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่สองที่อยู่ห่างออกไป 11 กิโลเมตรทางใต้[175] ซึ่งทำให้เครื่องปฏิกรณ์ที่ประสบปัญหาทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นหกเครื่อง[176]

มีรายงานว่า ไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีถูกตรวจจับได้ในน้ำประปาในเขตจังหวัดฟูกูชิมะ โทจิงิ กุมมะ โตเกียว ชิบะ ไซตามะ และนีงาตะ และซีเซียมกัมมันตภาพรังสีในน้ำประปาในเขตจังหวัดฟูกูชิมะ โทจิงิ และกุมมะ[177][178][179] ซีเซียม ไอโอดีนและสตรอนเชียมกัมมันตภาพรังสี[180]ยังได้ถูกพบในดินบางพื้นที่ของฟูกูชิมะ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องแทนที่ดินที่ปนเปื้อน[181] ผลิตภัณฑ์อาหารยังถูกพบว่าปนเปื้อนจากสารกัมมันตภาพรังสีในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น[182] วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554 รัฐบาลจังหวัดอิบารากิห้ามการประมงปลาแซนด์ เลซ (sand lace) หลังพบว่าปลาชนิดดังกล่าวปนเปื้อนซีเซียมกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด[183] จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม เนื้อวัวปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถูกพบวางขายอยู่ที่ตลาดในกรุงโตเกียว[184]

เกิดไฟไหม้ขึ้นในส่วนกังหันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนางาวะหลังแผ่นดินไหว[165][185] โดยเกิดขึ้นในอาคารอันเป็นที่ตั้งของกังหันที่ตั้งอยู่แยกจากเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้า[171] และถูกดับไปหลังจากนั้นไม่นาน[186] โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกปิดลงเพื่อเป็นการระวังไว้ก่อน[187]

วันที่ 13 มีนาคม มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับต่ำสุด[188] เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าโอนางาวะ เมื่อค่ากัมมันตภาพรังสีชั่วคราวเกินระดับที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า[189][190] บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวแลถงว่า นี่อาจเป็นเพราะกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง แต่ไม่ใช่จากโรงไฟฟ้าโอนางาวะเอง[187]

อาฟเตอร์ช็อกเมื่อวันที่ 7 เมษายน ทำให้โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วรกกาโชและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮิงาชิโดริสูญเสียพลังงานภายนอก แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองยังทำงานอยู่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนางาวะเสียสายไฟฟ้าภายนอก 3 จาก 4 เส้น และเสียระบบหล่อเย็นเป็นเวลานานถึง 80 นาที มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมที่โอนางาวะเล็กน้อย[191]

เครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โทไกถูกปิดลงอัตโนมัติ[164] วันที่ 14 มีนาคม มีรรายงานว่าปั๊มระบบหล่อเย็นของเครื่องปฏิรณ์ดังกล่าวหยุดทำงาน[192] อย่างไรก็ตาม บริษัทพลังงานอะตอมญี่ปุ่น แถลงว่า ยังมีปั๊มระบบประปาที่สองที่ยังรักษาระบบหล่อเย็นต่อไป แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสองในสามเครื่องที่ให้พลังงานแก่ระบบหล่อเย็นใช้การไม่ได้[193]

ท่าเรือ

ความเสียหายของเรือและปั้นจั่นในท่าเรือเซ็นได

ท่าเรือทั้งหมดของญี่ปุ่นปิดชั่วคราวหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ก่อนที่บางแห่งในโตเกียวหรือใต้ลงไปกว่านั้นจะเปิดใช้อีกครั้งในเวลาไม่นาน ท่าเรือตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ฮาจิโนเฮะ เซ็นได อิชิโนมากิ และโอนาฮามะถูกทำลาย ในขณะที่ท่าเรือชิบะซึ่งรองรับอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนและท่าเรือคาชิมะซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับเก้าในญี่ปุ่นได้รับความเสียหายเช่นกันแต่น้อยกว่ามาก ท่าเรือที่ฮิตาชินากะ ฮิตาชิ โซมะ ชิโอกามะ เคเซ็นนูมะ โอฟูนาโตะ คามาชิ และมิยาโกะ ได้รับความเสียหายเช่นกัน และคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถเปิดใช้ได้อีกหลายสัปดาห์[194] ท่าเรือหมดทั้ง 15 แห่งเปิดใช้งานอีกครั้งโดยจำกัดการเดินเรือเมื่อถึงวันที่ 29 มีนาคม[195] ท่าเรือโตเกียวได้รับความเสียหายเล็กน้อย ผลกระทบของแผ่นดินไหวรวมไปถึงควันที่มองเห็นได้ลอยขึ้นมาจากอาคารในท่าเรือ ซึ่งบางส่วนของท่าถูกน้ำท่วม รวมทั้งการเหลวตัวของดินในพื้นที่ที่จอดรถของโตเกียวดิสนีย์แลนด์[196][197]

เขื่อนแตกและน้ำ

เขื่อนแตกที่ฟูจินูมะ

เขื่อนชลประทานฟูจินูมะในซูกางาวะแตก[198] ทำให้เกิดอุทกภัยและน้ำได้พัดพาบ้านเรือนไปกับกระแสน้ำห้าหลัง[199] มีผู้สูญหายแปดคน และศพผู้เสียชีวิตสี่ศพถูกค้นพบในเช้าวันรุ่งขึ้น[200][201][202] ตามรายงาน ประชาชนท้องถิ่นบางคนพยายามซ่อมแซมรอยแตกของเขื่อนก่อนที่เขื่อนจะแตก[203] เมื่อวันที่ 12 มีนาคม เขื่อน 252 แห่งถูกตรวจสอบ และพบว่าเขื่อนทั้งหกแห่งมีรอยแตกตื้น ๆ บริเวณสันเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนคอนกรีตถ่วงน้ำหนักแห่งหนึ่งมีการพังทลายตามลาดที่ไม่น่าวิตกกังวล เขื่อนที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดสามารถดำเนินการต่อไปโดยไม่มีปัญหา สี่เขื่อนในพื้นที่แผ่นดินไหวยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เมื่อการติดต่อทางถนนสามารถเข้าถึงได้ ผู้เชี่ยวชาญจะถูกส่งไปตรวจสอบเพิ่มเติม[204]

ทันทีหลังเกิดหายนะดังกล่าวขึ้น มีอย่างน้อย 1.5 ล้านครัวเรือนได้รับรายงานว่าไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้[205][206] จนถึงวันที่ 21 มีนาคม ยอดดังกล่าวลดลงเหลือ 1.04 ล้านครัวเรือน[207]

ไฟฟ้า

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสายส่งกระแสไฟฟ้า

ตามข้อมูลของโทโฮะกุอิเล็กทริกพาวเวอร์ (TEP) มีบ้านเรือนราว 4.4 ล้านหลังคาเรือนทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้[208] เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปหลายเครื่องไม่สามารถใช้การได้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ลง 21 จิกะวัตต์[209] มาตรการตัดกระแสไฟฟ้า (rolling blackout) เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม จากการขาดแคลนพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากแผ่นดินไหว TEPCO ซึ่งปกติแล้ว ผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 40 จิกะวัตต์ ประกาศว่าขณะนี้ทางบริษัทสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงราว 30 กิกะวัตต์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไฟฟ้าร้อยละ 40 ที่ใช้ในพื้นที่เขตมหานครโตเกียวปัจจุบันได้รับไฟฟ้าที่ผลิตจากเครื่องปฏิกรณ์ในจังหวัดนีงาตะและฟูกูชิมะ[210] เครื่องปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะทั้งสองแห่งถูกปิดตัวลงอัตโนมัติหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นครั้งแรก และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นตามมา คาดว่าจะมีมาตรการตัดกระแสไฟฟ้านานสามชั่วโมงถึงสิ้นเดือนเมษายนและจะส่งผลกระทบถึงจังหวัดโตเกียว คานางาวะ ชิซูโอกะ ยามานาชิ ชิบะ อิบารากิ ไซตามะ โทจิงิ และกุมมะ[211] การเต็มใจลดการใช้กระแสไฟฟ้าโดยผู้บริโภคในเขตคันโตช่วยลดความถี่และระยะที่เกิดไฟฟ้าดับจากที่เคยทำนายไว้[212] การลดการใช้ไฟฟ้าโดยสมัครใจของผู้บริโภคในพื้นที่คันโตช่วยลดความถี่และระยะเวลาของการตัดกระแสไฟฟ้าที่คาดการณ์ไว้[213] จนถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554 จำนวนครัวเรือนทางตอนเหนือของญี่ปุ่นที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ลดลงเหลือ 242,927 ครัวเรือน[207]

TEP ปัจจุบันไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับเขตคันโตได้ เพราะเครื่องปฏิกรณ์ของ TEP เองก็ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน คันไซอิเล็กทริกพาวเวอร์คอมปานี (Kepco) ไม่สามารถแบ่งกระแสไฟฟ้าให้ได้ เพราะระบบของบริษัททำงานอยู่ที่ 60 เฮิรตซ์ ขณะที่ของ TEPCO และ TEP ทำงานที่ 50 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคในยุคเริ่มแรกในคริสต์ทศวรรษ 1880 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่มีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศที่เป็นเอกภาพ[214] สถานีย่อยสองแห่งในชิซูโอกะและนางาโนะสามารถแปลงความถี่และส่งกระแสไฟฟ้าจากคันไซไปยังคันโตและโทโฮกุแต่มีกำลังสูงสุดจำกัดอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ และจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องปฏิกรณ์หลายเครื่องนั้น อาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะฟื้นฟูระดับการผลิตกระแสไฟฟ้าทางตะวันออกของญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดแผ่นดินไหว[215]

ในควมพยายามจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนพลังงาน ผู้ผลิตเหล็กกล้าสามรายในภูมิภาคคันโตได้สนับสนุนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าแบบเก่าภายในองค์กร ให้แก่ TEPCO เพื่อแจกจ่ายต่อไปยังสาธารณชน ซูมิโตโมเมทัลอินดัสตรีส์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ เจเอฟอีสตีล 400 เมกะวัตต์ และนิปปอนสตีล 500 เมกะวัตต์[216] ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในคันโตและโทโฮกุยังตกลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยเปิดโรงงานเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ และปิดวันพฤหัสบดีและวันศุกร์เพื่อช่วยบรรเทาการขาดแคลนไฟฟ้าระหว่างฤดูร้อน พ.ศ. 2554[217]

ส่วนกังหันลมพาณิชย์ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า 2,300 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเลย รวมทั้งทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งคามิซุ ซึ่งถูกสึนามิโดยตรง[218]

น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน

เพลิงไหม้ที่โรงกลั่นน้ำมันของคอสโมออยล์คอมปานีในอิชิฮาระ

โรงกลั่นน้ำมันของคอสโมออยล์คอมปานี ซึ่งมีกำลังการผลิต 220,000 บาร์เรลต่อวัน[219] เกิดเพลิงลุกไหม้อันเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวที่อิชิฮาระ จังหวัดชิบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว[220] ไฟถูกดับลงหลังลุกไหม้เป็นเวลาสิบวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมหกคน และทำลายคลังน้ำมันไปด้วย ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งอื่น ๆ ชะลอการผลิตจากการตรวจสอบความปลอดภัยและการสูญเสียพลังงาน[221][222] ในเซ็นได โรงกลั่นน้ำมันกำลังการผลิต 145,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นของบริษัทโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เจเอกซ์นิปปอนออยล์แอนด์เอเนอร์จี ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้จากแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน[219] มีการอพยพคนงาน[223] แต่ประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิได้ขัดขวางความพยายามที่จะดับไฟกระทั่งวันที่ 14 มีนาคม เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการวางแผนดำเนินการ[219]

การวิเคราะห์ประเมินว่าการบริโภคน้ำมันหลายประเภทอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็นถึง 300,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว) เพื่อใช้ป้อนให้กับเครื่องปฏิกรณ์ชนิดเผาผลาญเชื้อเพลิงซากฟอสซิลเพื่อพยายามทดแทนกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 11 จิกะวัตต์ของญี่ปุ่น[224][225]

เครื่องปฏิกรณ์ของเมืองเซ็นไดที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวได้รับความเสียหายอย่างหนัก และวัตถุดิบถูกชะลอไว้อย่างน้อยเดือนหนึ่ง[226]

การคมนาคม

ผู้โดยสารรถไฟในโตเกียว กับการหยุดชะงักการเดินทางที่เกิดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น

เครือข่ายคมนาคมของญี่ปุ่นหยุดชะงักอย่างรุนแรง ทางด่วนสายโทโฮกุหลายส่วนที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย[227] ทางด่วนดังกล่าวปิดให้บริการกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554[228][229] บริการรถรางทั้งหมดในโตเกียวหยุดชะงัก ประเมินว่าผู้โดยสารอย่างน้อย 20,000 คนติดค้างอยู่ที่สถานีหลัก ๆ ทั่วนคร[230] ไม่กี่ชั่วโมงหลังแผ่นดินไหว บริการรถไฟบางส่วนได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง[231] รถไฟส่วนใหญ่ในพื้นที่โตเกียวได้กลับมาเปิดให้บริการทั้งหมดภายในวันรุ่งขึ้น (12 มีนาคม)[232] นักท่องเที่ยวกว่าสองหมื่นคนใช้ชีวิตอยู่ภายในโตเกียวดิสนีย์แลนด์ในคืนวันที่ 11-12 มีนาคม[233]

คลื่นสึนามิท่วมท่าอากาศยานเซ็นไดเมื่อเวลา 15.55 น. ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น[87] ราวหนึ่งชั่วโมงหลังแผ่นดินไหวครั้งแรก ทั้งท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะและฮาเนดะได้ชะลอการให้บริการหลังจากแผ่นดินไหว โดยเที่ยวบินส่วนใหญ่เปลี่ยนไปลงท่าอากาศยานแห่งอื่นเป็นเวลาราว 24 ชั่วโมง[197] สายการบินสิบสายที่ปฏิบัติการที่นาริตะได้ย้ายที่ทำการยังฐานทัพอากาศโยโกตะที่อยู่ใกล้เคียงแทน[234]

บริการรถไฟทั่วญี่ปุ่นจำนวนมากถูกยกเลิก โดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกชะลอการให้บริการทั้งหมดทั้งวัน[235] รถไฟสี่ขบวนบนสายชายฝั่งมีรายงานว่าขาดการติดต่อกับผู้ให้บริการ รถไฟขบวนหนึ่ง ซึ่งเป็นรถไฟสี่ตู้ขบวนบนสายเซ็นเซกิ ถูกพบว่าตกราง และผู้โดยสารได้รับการช่วยเหลือไม่นานหลังจาก 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น[236] ทางรถไฟ 62 จากทั้งหมด 70 สายของบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกได้รับความเสียหายระดับหนึ่ง[195] ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด 23 สถานีบน 7 สายทางรถไฟ ถูกพัดพาไป โดยทำความเสียหายหรือสูญเสียรางใน 680 จุด และพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่งไม่สามารถเข้าได้[237]

ไม่พบรถไฟหัวกระสุนชิงกันเซ็งตกรางทั้งในและนอกกรุงโตเกียว แต่การให้บริการก็หยุดชะงักไปเช่นกัน[197] โทไดโดชิงกันเซ็งได้กลับมาให้บริการอย่างจำกัดภายในวันเดียวกัน และเปิดให้บริการตามตารางเวลาปกติภายในวันรุ่งขึ้น ขณะที่โจเอ็ตสึและนางาโนะชิงกันเซ็งได้กลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม ส่วนการให้บริการยามางาตะชิงกันเซ็งกลับมาให้บริการแบบจำกัดวันที่ 31 มีนาคม[238] สายโทโฮกุชิงกันเซ็งได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกประเมินว่า รางกว่า 1,100 ส่วน ซึ่งมีระดับความเสียหายตั้งแต่หลังคาสถานีถล่มไปจนถึงเสาไฟฟ้าแรงสูงหักงอ ต้องการการซ่อมแซม โทโฮกุชิงกันเซ็งบางส่วนกลับมาให้บริการอีกครั้งเฉพาะในพื้นที่คันโตเมื่อวันที่ 15 มีนาคม โดยมีบริการไป-กลับเที่ยวเดียวต่อชั่วโมงระหว่างกรุงโตเกียวกับนาซุ-ชิโอบาระ[239] และบริการพื้นที่โทโฮกุบางส่วนกลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ระหว่างโมริโอกะและชิน-อาโอโมริ[240] อากิตะชิงกันเซ็งกลับมาให้บริการอีกครั้งแบบจำกัดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม[241]

มาตรการตัดกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในฟูกูชิมะ ได้ส่งผลลึกซึ้งต่อเครือข่ายรางรอบกรุงโตเกียว ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ทางรางหลักเริ่มมีรถไฟออกโดยเว้นช่วงห่าง 10-20 นาที จากปกติที่เว้นช่วงเพียง 3-5 นาที และให้บริการเป็นบางสายเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ส่วนสายอื่น ๆ จะถูกปิดอย่างสมบูรณ์ ที่เด่นคือ สายหลักโทไกโด สายโยโกซูกะ สายหลักโซบุ และสายชูโอ-โชบุ หยุดให้บริการทั้งวัน[242] ซึ่งนำไปสู่ภาวะจราจรใกล้อัมภาตภายในเมืองหลวง โดยมีการเข้าแถวยาวที่สถานีรถไฟ และหลายคนไม่สามารถไปทำงานหรือกลับบ้านได้ ผู้ให้บริการทางรางเพิ่มจำนวนรถอีกไม่กี่วันถัดมา กระทั่งดำเนินการได้ 80% จากจำนวนปกติ จนถึงวันที่ 17 มีนาคม และช่วยบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารที่เลวร้ายที่สุดลงได้

โทรคมนาคม

บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พี้นฐานได้รับผลกระทบอย่างมากในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหว[243] ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น บริษัทกระจายเสียงอเมริกัน เอ็นพีอาร์ ไม่สามารถติดต่อใครในเซ็นไดผ่านโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตได้เลย บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่สาธารณูปโภคพื้นฐานยังคงมีอยู่ แม้แผ่นดินไหวจะสร้างความเสียหายแก่ระบบเคเบิลใต้ทะเลหลายส่วนที่นำขึ้นบกในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ ระบบเหล่านี้สามารถเลี่ยงส่วนที่ได้รับผลกระทบไปยังส่วนที่ซ้ำซ้อนกันแทนได้[244][245] ในญี่ปุ่น มีเพียงไม่กี่เว็บไซต์เท่านั้นที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในตอนแรก[246] ผู้ให้บริการฮอตสปอตวายฟายหลายแห่งได้รับมือกับเหตุแผ่นดินไหวโดยให้บริการเข้าถึงเครือข่ายของพวกเขาฟรี[246] และผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมและวีโอไอพีอเมริกัน อาทิ เอทีแอนด์ที สปรินท์ เวอไรซอน[247] ที-โมไบล์[248] และบริษัทวีโอไอพี อาทิ เน็ตทอล์ก[249] และโวแนจ[250] เสนอให้โทรศัพท์ไปญี่ปุ่นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในเวลาที่กำหนด (บางบริษัทรวมทั้งโทรศัพท์กลับด้วย) เช่นเดียวกับบริษัทด็อยซ์ส เทเลคอมของเยอรมนีด้วย[251]

ศูนย์อวกาศ

องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นได้สั่งอพยพพนักงานจากศูนย์อวกาศสึกูบะในสึกูบะ จังหวัดอิบารากิ ศูนย์อวกาศดังกล่าวถูกปิดลง โดยมีรายงานได้รับความเสียหายบางส่วน ศูนย์อวกาศสึกูบะเป็นที่ตั้งของห้องควบคุมชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติ[252][253] วันที่ 2 มีนาคม ศูนย์ควบคุมสึกูบะกลับมาปฏิบัติการเต็มตัวสำหรับห้องปฏิบัติการคิโบของสถานีอวกาศและยานพ่วงเอชทีวี[254]

สมบัติทางวัฒนธรรม

ความเสียหายที่เกิดแก่โคมไฟโบราณที่ศาลเจ้าโทกิวะ เมืองมิโตะ

สมบัติทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น 549 ชิ้นได้รับความเสียหาย รวมทั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 5 แห่ง สมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญ 143 ชิ้น อนุสาวรีย์ในญี่ปุ่น 120 แห่ง กลุ่มอาคารโบราณ 7 แห่ง และสมบัติทางวัฒนธรรมพื้นบ้านสำคัญที่จับต้องได้อีก 3 ชิ้น อนุสาวรีย์หินที่แหล่งมรดกโลกศาลเจ้าและวัดแห่งนิกโกโค่นลง[255][256][257][258] ในกรุงโตเกียว เกิดความเสียหายแก่สวนโคอิชิกาวะ โครากุ สวนริกูงิ สวนฮามาริกิว อนชิ และกำแพงปราสาทเอโดะ[259] ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของสะสมที่เป็นของพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและหอจดหมายเหตุยังไม่สมบูรณ์[260] ไม่มีความเสียหายแก่อนุสรณ์และแหล่งประวัติศาสตร์ฮิราอิซูมิในจังหวัดอิวาเตะ และการชี้แนะสำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในเดือนมิถุนายนได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับจากนานาชาติและการฟื้นฟู[261]

ใกล้เคียง

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ พ.ศ. 2554 แผ่นดินไหว แผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะ ค.ศ. 2024 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิง ค.ศ. 1995 แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ ค.ศ. 2022 แผ่นดินไหวใน พ.ศ. 2561 แผ่นดินไหวใน พ.ศ. 2559 แผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและประเทศซีเรีย พ.ศ. 2566 แผ่นดินไหวในชูเอ็ตสึ จังหวัดนีงาตะ พ.ศ. 2547

แหล่งที่มา

WikiPedia: แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ_พ.ศ._2554 http://gulftoday.ae/portal/067b285e-6644-4460-b882... http://www.couriermail.com.au/ipad/twilight-tsunam... http://www.heraldsun.com.au/news/japan-on-tsunami-... http://www.news.com.au/world/japan-earthquake-evac... http://www.theaustralian.com.au/fire-at-nuclear-po... http://www.abc.net.au/news/events/japan-quake-2011... http://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/sto... http://www.biobiochile.cl/2011/03/12/caldera-80-vi... http://www.publimetro.cl/nota/mundo/marejadas-ingr... http://www.chincold.org.cn/dams/NewsEvents/webinfo...