ประวัติ ของ แพน_เรืองนนท์

ชีวิตตอนต้น

แพน เรืองนนท์ เกิดในครอบครัวนักแสดงละครชาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2457 ที่บ้านหลานหลวง กรุงเทพพระมหานคร (ปัจจุบันอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรสาวของพูน และแป้น เรืองนนท์[3] เธอมีพี่น้องร่วมและต่างมารดาทั้งหมด 17 คนหนึ่งในนั้นคือ ทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี)[4]

ครอบครัวของเธอดำเนินกิจการแสดงละครชาตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นเพเป็นไพร่แถบนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ติดตามกองทัพของพระยาพระคลัง (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)) เข้าไปตั้งถิ่นฐานในพระนคร[1] มีบรรพบุรุษชื่อ พระศรีชุมพล (ฉิม) ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยรับราชการในราชสำนักนครศรีธรรมราช จนรับสมญาว่า "ละครเรือเร่หรือละครเรือลอย" ที่ถ่ายทอดการแสดงละครชาตรีสู่ผู้สืบสันดาน[4][5] ด้วยเหตุนี้แพนบุตรสาวของพูนผู้มีหน้าตาสะสวยจึงซึมซับการเล่นละครชาตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจำเริญวัยเธอก็รับบทเป็นนางเอก[6]

ตำแหน่งบาทบริจาริกาและชื่อเสียง

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์

พูนรับเล่นละครกับคุณหญิงลิ้นจี่ ครั้นไปเปิดวิกที่อื่นก็ทำให้การแสดงคณะของพูนจึงขาดช่วงไป กอปรกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจนคนไม่อยากจ่ายเงินมาดูละคร พูนจึงเสนอให้คุณหญิงลิ้นจี่เลือกตัวละครที่ชอบไปแสดง คุณหญิงลิ้นจี่จึงเลือกแพนและชื้น (สมญา ชื้นตาหวาน) นำคณะไปเล่นละครแถบอรัญประเทศ และเข้าไปยังแถบเมืองพระตะบอง[7] ชื่อเสียงของคณะละครดังไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ทรงเรียกให้ไปเล่นละครในพนมเปญ ชื้นตาหวานผู้เป็นตัวพระเอกไม่กล้ารับแต่แพนตัวนางเอกรับปากและเข้าไปยังราชสำนักเขมร พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์จึงให้แพนร่วมแสดงกับเหล่าพระสนม โดยแพนรับบทเป็น "บุษบา" ตอนไหว้พระ ต่อหน้าพระพักตร์ ผลก็คือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่ง[3][6] ทรงรับนางสาวแพนเข้าเป็น เจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น "หลวง" แก่นายพูนผู้บิดา[8]

เรื่องราวดั่งนิยายของเธอได้รับเปิดเผยครั้งแรก จากการสืบเสาะของนักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ที่ชื่อว่าประสุต (ไม่ปรากฏนามสกุล) ที่บังเอิญได้ยินบบทสนทนาจากกลุ่มสตรีที่ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ที่กำลังสนทนาว่าด้วยเรื่องมารดาของแพนเล่าให้ฟังระหว่างโดยสารรถไฟกลับมาจากแดนกัมพูชาโดยอ้างว่าบุตรสาวของนางจะได้รับการแต่งตั้งเป็นราชินีแห่งกัมพูชาซึ่งตอนนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมแล้ว หลังสัมภาษณ์นางแป้น ประสุตได้รายงานแก่แอนดริว เอ. ฟรีแมน (อังกฤษ: Andrew A. Freeman) ผู้เป็นบรรณาธิการ นายฟรีแมนจึงตัดสินใจพาดหัวข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ว่า "SIAMESE DANCER MAY BE CAMBODIA'S QUEEN" (นางละครชาวสยามอาจได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา) ทำให้เรื่องส่วนตัวของแพนโด่งดังมากในปี พ.ศ. 2470[9][10]

หลังข่าวแพร่สะพัด ชีวิตรักของหญิงสามัญกับกษัตริย์กัมพูชาก็เป็นที่โจษขานในสังคมพระนคร นายฟรีแมนระบุไว้ว่า "บ้านของบิดามารดานางสาวแพนกลายเป็นศาลเจ้าสำหรับคนที่เชื่อในความมหัศจรรย์ พวกเขาถูกถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์ และได้รับการว่าจ้างให้ไปปรากฏตัวในงานแสดงต่าง ๆ"[2] นางแป้นผู้มารดาได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า "ก่อนฉันเดินทางกลับมา [จากกัมพูชา] ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่า ๆ กับเป็นนางรำ" ทรงโปรดปรานเจ้าจอมแพนมากถึงขั้นมอบหมายให้เธอถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลเครื่องทรงเครื่องเสวย ทั้งยังดูแลกิจการฝ่ายใน และการที่เจ้าจอมแพนสามารถขัดพระทัยพระเจ้าอยู่หัวโดยการไว้ผมยาวจนกว่าจะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาซึ่งต้องโกนผมไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมกัมพูชา[2]

คืนสู่สามัญ

  ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในกรุงพนมเปญ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง จริง ๆ แล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฏศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญและมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวกัมพูชา เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้
— แถลงการณ์ที่กงสุลฝรั่งเศสส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์[11]

ขณะที่เรื่องราวของแพน เรืองนนท์ กำลังเป็นที่พูดถึงนั้น มงซิเออร์ ชาล็อง (ฝรั่งเศส: Monsieur Chalant) กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยามได้โทรศัพท์ไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และชี้แจ้งแก่นายฟรีแมนว่า "เรื่องที่คุณลงตีพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มุนีวงศ์มันผิดทั้งหมด" และ "ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไปให้คุณ และมงซิเออร์เรโย (Monsieur Réau) ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอร้องให้คุณหยุดเขียนเรื่องพระองค์กับเด็กสาวคนนี้" เมื่อบรรณาธิการถามถึงเหตุผล กงสุลก็ตอบว่า "เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องไร้สาระ" ทั้งนี้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าว แต่ตัดถ้อยคำที่ว่า "เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้" ออก และยังส่งนักข่าวคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบิดาเจ้าจอมแพน[11]

"ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่"
"I AM THE CAMBODIAN KING'S WIFE."
SAYS NANGSAO BAEN
State She Is Going
Back to Pnom-Penh
— หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์[11]

แต่สถานกงสุลฝรั่งเศสในพระนครก็ไม่สิ้นความลดละ โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง ความว่า "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระทัยและปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดานางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพฯ โดยทันที" ซึ่งกัมพูชาได้บอกกับพูนและแพนว่า "หากอยู่ไปจะเกิดอันตรายได้"[3] แต่เมื่อแพนกลับถึงพระนครในวันรุ่งขึ้น เธอปฏิเสธเรื่องที่ว่ากษัตริย์กัมพูชาส่งเธอกลับ โดยอ้างว่าเธอเพียงมาเยี่ยมน้องชายที่ป่วยเท่านั้น "พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วันและจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่" ซึ่งกรุงเทพเดลิเมล์ได้นำคำพูดดังกล่าวมาเป็นพาดหัว[11]

ทางกงสุลฝรั่งเศสก็ทำการโต้ตอบหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ทันที ด้วยการส่งแถลงการณ์ไปยังหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษอีกสองฉบับคือ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และเดอะบางกอกไทมส์ (The Bangkok Times) แต่ไม่ส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์ โดยเนื้อหาที่ตีพิมพ์ระบุว่า "เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่านางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก"[11]

ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเหตุผลกลใดฝรั่งเศสจึงเดือดร้อนที่เจ้านายกัมพูชาจะมีนักนางสนมเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่นางสาวแพนก็เป็นเพียงหญิงสามัญนางหนึ่ง และไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างใด นอกจากนี้ทางสถานกงสุลฝรั่งเศสได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลสยามช่วยปิดข่าวอีกด้วย ก่อนข่าวนางสาวแพนจะจางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มีประชาชนกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายไปยังบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์ แสดงความขุ่นเคืองฝรั่งเศส ว่าควรขอโทษนางสาวแพน ที่กล่าวหาว่าเธอ "ไม่เป็นที่พึงประสงค์" ของราชสำนักกัมพูชา[11]

กลับสู่โลกแห่งละคร

นับแต่นั้น แพนก็เก็บตัวอยู่ในบ้านของบิดา แม้นมีวิกต่าง ๆ มาเสนอค่าตัวสูงถึง 300 บาทให้เธอไปปรากฏตัว ซึ่งขณะนั้น 300 บาทถือว่าเทียบเท่ารายได้ต่อปีของเธอ แม้แต่คณะละครต่างชาติที่จัดแสดงอยู่ในมะนิลาได้ชี้ชวนให้เธอไปแสดงที่สหรัฐอเมริกาแต่เธอก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เธอให้เหตุผลว่า "ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา" และเธอมิอาจเข้าใจได้เลยว่าพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์นั้นมิได้กุมอำนาจสูงสุดในกัมพูชา หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระดับสูงที่ทางการส่งมาประจำที่พนมเปญ[12]

สุดท้ายเธอก็กลับไปเป็นนางละครในคณะของมารดาตามเดิม[12] หลังจากนั้นอีกสองปีเธอก็สมรสใหม่กับชายคนหนึ่งซึ่งเป็นลิเก[1] มีบุตรสาวชื่อกัญญา ทิพโยสถ ซึ่งเป็นนางละครเช่นแพน[9][13]

แพน เรืองนนท์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2522 สิริอายุได้ 65 ปี[9]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: แพน_เรืองนนท์ http://www.artbangkok.com/?p=24255 http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999733... http://digi.library.tu.ac.th/index/0098/30-10-Aug-... http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=... http://www.matichon.co.th/daily/view_news.php?news... http://www.thairath.co.th/content/416138 https://web.archive.org/web/20160305100229/http://... https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5148