ประวัติ ของ แมวไทย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารแสดงให้เห็นแมวกำลังจะจับหนู

แมวถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงของคนไทยมาช้านาน และได้รับสิทธิในการขึ้นไปอาศัยอยู่บนเรือนร่วมกับมนุษย์ ดังปรากฏในประเพณีขึ้นบ้านใหม่ที่จะมอบของมงคลต่าง ๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงสองชนิดไก่และแมว ทั้งยังปรากฏแมวในสำนวนหรือสุภาษิตต่าง ๆ เป็นต้นว่า "หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว" "ฝากปลาย่างไว้กับแมว" และ "แมวนอนหวด" เป็นต้น[1] นอกจากเลี้ยงในเรือนแล้ว พระสงฆ์ก็นิยมเลี้ยงแมวในวัดด้วย เพราะป้องกันมิให้หนูมากัดทำลายพระไตรปิฏก[2]

ตำราดูลักษณะแมว เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติซึ่งคัดลอกต่อ ๆ กันมา ฉบับหนึ่งอยู่ในการครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ผู้โปรดปรานการเลี้ยงแมว ตำราดังกล่าวเป็นสมุดข่อย เนื้อหาแต่งเป็นโคลงและกาพย์ แบ่งแมวไทยออกเป็น 23 สายพันธุ์ เป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษ 6 สายพันธุ์[1][3] ส่วนตำราแมวฉบับอื่น ๆ ก็ระบุไว้ใกล้เคียงกัน[4][5] จากเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยด้านรูปลักษณ์ เพราะแมวมงคลนั้นล้วนมีลักษณะที่งาม อันแสดงให้เห็นว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นบ้านเป็นตาของบ้าน[1] ทั้งนี้แมวไทยส่วนใหญ่มีอุปนิสัยดี ไม่ดุร้าย ฉลาด รู้จักประจบประแจง รักเจ้าของ และมีความเป็นต้วของตัวเอง[2] และมีข้อดีที่สำคัญคือมีภูมิต้านทานต่อโรคเขตร้อนสูง ขนสั้น ไม่มีปัญหาด้านเชื้อราจากความชื้น[6]

เมื่อปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษชื่อ โอเวน กูลด์ แมวไทยคู่นี้ชนะการประกวดแมวที่ กรุงลอนดอน และทำให้ชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงแมวไทยมากขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก และแมววิเชียรมาศก็เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า "Siamese Cat" หรือ แมวสยาม

สำหรับในประเทศไทย คนไทยที่เป็นที่รับรู้ดีว่าชอบเลี้ยงแมวไทย เช่น สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พิชัย วาสนาส่ง อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็นต้น

แมวไทยในระดับนานาชาติ

ในสหรัฐอเมริกา แมวไทยตัวแรกเป็นแมวของ ลูซี่ เว็บบ์ ภรรยาของ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของสหรัฐอเมริกา[7]

ทั้งนี้แมววิเชียรมาศได้รับการยกย่องจากนักจิตบำบัดในฐานะแมวที่ช่วยเสริมสร้างความสดใสและสมดุลทางอารมณ์ให้กับผู้เลี้ยง และมักถูกแนะนำให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่มีโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยในการบำบัดอาการ[6] ชาวต่างชาตินิยมนำแมวไทยไปผสมกับแมวพันธุ์ที่มีอุปนิสัยดุ เพื่อให้ลูกที่เกิดมาเชื่องหรือดุน้อยลง[2]

ปัจจุบันแมวไทยที่ปรากฏในตำราซึ่งยังหลงเหลืออยู่คือ วิเชียรมาศ, โกนจา, ขาวมณี และมาเลศถูกชาวต่างชาติจดสิทธิบัตรไปแล้ว แบ่งเป็น วิเชียรมาศจดโดยอังกฤษ ส่วนโกนจา, ขาวมณี และมาเลศจดโดยสหรัฐ คงเหลือแต่ศุภลักษณ์เท่านั้นที่ยังไม่มีชาติใดจดสิทธิบัตร[6][8]

ปัจจุบันยีนของแมวไทยได้กระจายไปสู่แมวสายพันธุ์ต่างประเทศทั่วโลกมากถึง 40 สายพันธุ์ด้วยกัน[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แมวไทย http://catofsiam.blogspot.com/2016/04/thai-lilac.h... http://catofsiam.blogspot.com/2016/10/6-cats-of-th... http://www.digitalrarebook.com/index.php?lay=show&... http://www.sereechai.com/index.php/2013-05-01-06-3... http://www.verdantplanet.org/news/viewnews.php?new... http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~boonnart/cat.h... http://www.thaistudies.chula.ac.th/document/radio/... http://www.skn.ac.th/skl/skn422/cat/cat12.htm http://www.dailynews.co.th/Content/Article/262931/... http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI...