แหล่งความมั่งคั่ง ของ แม่น้ำวอลกา

ตามแนวลำน้ำ มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ถึง 9 แห่ง และเขื่อนใหญ่อีกหลายแห่ง ก่อให้เกิดเป็นแหล่งเก็บกักน้ำหลังเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย

วอลกามีความสำคัญต่อระบบการขนส่งและการเดินเรือภายในประเทศอย่างมาก เขื่อนทุกแห่งตามแนวลำน้ำมีระบบชิปล็อกขนาดใหญ่ ที่จะทำให้เรือขนาดใหญ่ สามารถเดินทางจากปลายสุดของแม่น้ำขึ้นไปจนเกือบถึงบริเวณต้นน้ำได้ ระบบคลองมอสโก ทำหน้าที่เชื่อมต่อแม่น้ำวอลกากับแม่น้ำมัสควา คลองวอลกา-ดอน เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำดอนกับทะเลดำ ส่วนเส้นทางน้ำวอลกา-บอลติก เชื่อมต่อทะเลสาบทางเหนือ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และทะเลบอลติก ระบบสาธารณูปโภคทางน้ำเหล่านี้ ถูกออกแบบมาให้รองรับเรือขนาดใหญ่ได้ อย่างระบบชิพล็อกในแม่น้ำวอลกามีขนาดถึง 290 x 30 เมตร ส่วนในแม่น้ำ หรือคลองสายอื่นๆของวอลกา อาจจะเล็กลงกว่านี้เล็กน้อย

มีเรือต่างชาติจำนวนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งในเส้นทางสัญจรเหล่านี้ได้ แต่หลังจากที่รัสเซียมีการคบค้าสมาคมกับโลกภายนอกมากขึ้น คาดว่าในเร็ว ๆ นี้นโยบายดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

วอลกาให้ความชุ่มชื้นกับเขตตะวันตกของรัสเซียส่วนใหญ่ ดินที่อุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำ ทำให้ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งผลิตพืชธัญญาหารสำคัญ นอกจากนั้นแถวนี้ยังมีแร่ธาตุสำคัญมากมาย อุตสาหกรรมปิโตรเลียมจำนวนไม่น้อยมีศูนย์กลางอยู่ในเขตลำน้ำนี้ นอกจากนั้น แถบนี้ก็ยังพบก๊าซธรรมชาติ เกลือ และโพแทช บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลกา และ ทะเลแคสเปียนที่อยู่ใกล้ๆกัน เป็นแหล่งสัตว์น้ำที่ชุกชม โดยเมืองอัสตราคาน ถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไข่ปลาคาเวียร์

การที่อุตสาหกรรม และการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีจำนวนมากไปกระจุกอยู่ตามแนวลำน้ำ ปัจจุบันจึงมีความวิตกเรื่องปัญหาสภาวะแวดล้อมของแม่น้ำ

บทความเกี่ยวกับภูมิศาสตร์นี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ภูมิศาสตร์