น้ำเสวยสำหรับเครื่องต้น ของ แม่น้ำเพชรบุรี

เรื่องน้ำเพชรเป็น น้ำเสวยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 6 ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า"...เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดีเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่านิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้วเสวยน้ำอื่นๆไม่ อร่อยเลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรีและน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมา กาลปัจจุบัน" ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรที่ เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้นดีจืดอร่อย แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] ก็ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชยนับเป็นเกียรติคุณที่ชาว เพชรภาคภูมิใจ[4]

ความสำคัญของน้ำเพชรสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2465 โดย ได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน ทั้งนี้เพราะทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าแม่น้ำเพชรบุรีตลอดสองฝั่งมีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรกไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป จึงได้กราบบังคมทูลในรายงานของพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชร