ราชกรณียกิจ ของ แม่เจ้าแขกแก้ว

ในด้านศาสนา

  • เจ้าหญิงแขกแก้ว และพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป 40 องค์ และสร้างกุฏิ 1 หลัง ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย
  • เจ้าหญิงแขกแก้ว ได้เริ่มถือศีลกินเพล เข้ามานอนวัดรักษาอุโบสถศีลเป็นครั้งแรกเมื่อวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 เหนือ ณ วัดมหาวัน และตลอดมาจนถึงบั้นปลายแห่งชีวิต เจ้าหญิงเป็นผู้ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระศาสนา ท่านสวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นกิจวัตรทุกเวลาเช้ามือและทุกคืน ท่านใส่บาตรพระในตอนเช้า และได้ส่งอาหารเพล 4 ปิ่นโตที่วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดมหาวันทุกๆ วัน ตลอดมาจนถึงแก่อนิจกรรม นอกจากนั้นท่านยังได้บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญสุนทานต่างๆ มากมาย

ด้านการศึกษา

  • เจ้าหญิงแขกแก้ว ได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการศึกษาเป็นอย่างดี จึงได้ส่งเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน บุตรชายเข้าศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้อุปการะเจ้าวรเทวี ณ ลำพูน และเจ้าวีระทัศน์ ณ ลำพูน หลังจากที่เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ. 2508 ท่านสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศจนเจ้าวรเทวีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท (MBA) จาก Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และเจ้าวีระทัศน์จบประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านเครื่องยนต์จากสถาบัน Technikum ประเทศเยอรมัน และได้ฝึกงานระยะเวลา 1 ปี ที่ประเทศอังกฤษ

ด้านการสาธารณกุศล

  • ในปัจฉิมวัย เจ้าหญิงแขกแก้วได้อุทิศเวลาบางส่วนให้สาธารณประโยชน์ นอกจากจะเป็นสมาชิกอนุกาชาดตลอดชีพ เจ้าหญิงยังได้ให้ความร่วมมือแก่ราชการทุกๆ หน่วยตลอดมามิได้ขาด และยังได้ช่วยเหลือ ส่งข้าวของ เงินทองไปบรรเทาทุข์ผู้ยากจน ผู้ประสบภัยต่างๆ และได้ร่วมบริจาคเงินสมทบการสร้างหอประชุมอำเภอ การบูรณะกำแพงเมือง และอื่นๆ ตลอดเวลาที่เจ้าหญิงแขกแก้วยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของญาติพี่น้องและบุคคลอื่นๆ ที่มีความทุกข์ยากลำบาก เจ้าหญิงได้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ทั้งด้านการเงิน การงาน ความคิดอ่าน ที่พักอาศัย และอื่นๆ เสมอ ด้วยความกระตือรือร้น เต็มใจ มิได้เบื่อหน่าย นอกจากนี้เจ้าหญิงยังได้อุปการะญาติพี่น้องอีกเป็นจำนวนหลายราย บุคคลเหล่านี้มีมากมายจนเกินกว่าที่จะกล่าวได้ครบถ้วน เจ้าหญิงกระทำแต่คุณงามตวามดี จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา[2]