โครงการทางแยกต่างระดับปฐมพร ของ แยกปฐมพร

ปัจจุบัน สี่แยกปฐมพรเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและเข้าสู่จังหวัดชุมพร มีปริมาณการจราจรผ่านเป็นจำนวนมากซึ่งการจัดการจราจรโดยใช้สัญญาณไฟในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้อย่างเหมาะสม เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมส่งผลต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม

เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพการเดินทางบริเวณสี่แยกปฐมพร ให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมทางหลวงที่ต้องการอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน และพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ กรมทางหลวงจึงเห็นควรปรับปรุงบริเวณสี่แยกปฐมพรให้มีความสะดวกปลอดภัยและบรรเทาการติดขัดของรถยนต์ ที่ต้องจอดรอสัญญาณไฟนานๆ โดยการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่สี่แยกปฐมพร เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงยกระดับ ความกว้าง 11.00 – 15.50 เมตร ขอบทางข้างละ 0.50 เมตร และสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำน้ำ ผิวจราจรกว้าง 11.00 เมตร ขอบทางข้างละ 0.50 เมตร พร้อมถนนระดับพื้นราบผิว Asphaltic กว้าง 4.50 – 11.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 และ 2.50 เมตร ในแนวเบี่ยงขวาเส้นทาง ประจวบคีรีขันธ์-สุราษฎร์ธานี ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงยกระดับแนวถนนชุมพร – ระนอง ความกว้าง 17.00 – 25.00 เมตร ขอบทางกว้างข้างละ 0.50 เมตร และถนนระดับพื้นราบผิว Asphaltic กว้าง 4.50 – 11.50 เมตรเมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 และ 2.50 เมตร พร้อมงานระบายน้ำ งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานตีเส้นจราจร งานป้ายจราจรและงานปรับปรุงภูมิทัศน์

กรมทางหลวง ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ คิดราคากลางเบื้องต้น และขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างเป็นเงิน 532 ล้านบาท และได้ประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัท พีระมิดคอนกรีต จำกัด เป็นผู้ชนะด้วยราคา 505,500,000.00 บาท ได้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างทางแยกต่างระดับปฐมพร และโครงการนี้ เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2552 และสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณสี่แยก และอำนวยความสะดวกปลอดภัย รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รถยนต์สามารถเดินทางผ่านทางแยกแห่งนี้ได้โดยไม่ต้องจอดรอสัญญาณไฟ ส่งผลให้การเดินทางและขนส่งสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเมือง ไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้อีกด้วย สมเป็นประตูสู่ภาคใต้โดยแท้จริง

บทความเกี่ยวกับการเดินทาง การคมนาคม และการขนส่งนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล