ชื่อ ของ แยกแคราย

แยกแครายเดิมเป็นสามแยกที่เกิดขึ้นจากการตัดถนนติวานนท์และถนนงามวงศ์วานประมาณปี พ.ศ. 2490 เศษ ส่วนถนนรัตนาธิเบศร์ตัดขึ้นในภายหลัง (ปี พ.ศ. 2526) การเขียนชื่อบริเวณสี่แยกดังกล่าวมีความลักลั่นมากโดยมีการเขียนทั้ง "แคลาย" และ "แคราย" จนกระทั่งจังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือสอบถามไปยังราชบัณฑิตยสถานว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง ในชั้นแรกราชบัณฑิตยสถานได้ตอบจังหวัดนนทบุรีไปว่า จากการสอบถามผู้ที่มีพื้นเพในบริเวณดังกล่าวมานานทราบว่า บริเวณนั้นมีต้นแคมากมีทั้งดอกสีขาวและสีแดง มองไกล ๆ มีลักษณะคล้ายผ้าหลากสี จึงเรียกว่า แคลาย

ต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้รับคำร้องเรียนขอให้ทบทวนชื่อสถานที่ดังกล่าวจากประชาชนอยู่เสมอ และกรมทางหลวงได้มีหนังสือขอให้ราชบัณฑิตยสถานตรวจสอบว่าคำใดถูกต้องระหว่าง "แคลาย" กับ "แคราย" จึงได้มีการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ เช่น วัดเสมียนนารี ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต เดิมชื่อ วัดแคราย แต่ปรากฏว่าวัดเสมียนนารีไม่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับบริเวณสี่แยกดังกล่าวเนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลกัน อีกทั้งชื่อแคลายหรือแครายก็มิได้เป็นชื่อหมู่บ้าน ตำบล หรือเขตการปกครองใด ๆ จึงไม่ปรากฏบริเวณดังกล่าวในแผนที่ทางประวัติศาสตร์ แม้แต่การตรวจสอบจากสารบบที่ดินและระวางแผนที่รุ่นโบราณที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีก็ไม่พบหลักฐานเช่นกัน การเรียกชื่อสี่แยกแคลายหรือแครายเพิ่งปรากฏเมื่อมีการตัดถนนงามวงศ์วานและถนนติวานนท์ขึ้นเท่านั้น

แต่จากการสอบถามผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวก่อนที่จะมีการตัดถนนติวานนท์และถนนงามวงศ์วานทำให้ทราบว่า บริเวณดังกล่าวมีต้นแคมากและขึ้นเรียงรายตามขอบถนน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นรวมทั้งผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงมักเรียกบริเวณนี้ว่า แคราย และกลายเสียงเป็นแคลายบ้าง ดังนั้น ป้ายชื่อของทางราชการและร้านค้าต่าง ๆ ในบริเวณนั้นจึงมีทั้งที่เขียนว่า "แคลาย" และ "แคราย" นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่ามีพรรณไม้ตระกูลแคชื่อแคลายหรือต้นแคที่มีดอกลาย ดังนั้นจึงมีหลักฐานจากคำบอกเล่าตรงกันประการหนึ่ง คือ บริเวณซึ่งเป็นส่วนปลายของถนนงามวงศ์วานตัดกับถนนติวานนท์เป็นบริเวณที่มีต้นแคเรียงราย หลักฐานจากคำบอกเล่าดังกล่าวจึงมีน้ำหนักที่น่าจะวินิจฉัยได้ว่าควรเรียกบริเวณดังกล่าวว่า แยกแคราย