ธรณีวิทยาแหล่งแร่โลหะหายากที่สำคัญ ของ แร่ที่มีธาตุโลหะหายาก

  • Bayan Obo คาร์บอเนไทต์ มองโกเลียใน ประเทศจีนไบยุน โอโบ เป็นแหล่งแร่เหล็ก-โลหะหายาก-ไนโอเบียม มีปริมาณสำรองธาตุเหล็ก ประมาณ 1,500 ล้านตัน (ความสมบูรณ์เฉลี่ย 35 %)

ปริมาณสำรอง REO อย่างน้อย 8 ล้านตัน (ความสมบูรณ์เฉลี่ย 6 %) และปริมาณสำรองไนโอเบียมประมาณ 1 ล้านตัน (ความสมบูรณ์เฉลี่ย 0.13 %) นับว่าเป็นแหล่งแร่โลหะหายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณสำรอง REO ถึง 3 ใน 4 ของปริมาณสำรองของโลก (Drew et al., 1991)

แหล่งนี้เริ่มแรกทำเหมืองแร่เหล็กในปี 1940 จนกระทั่งปี 1965 เริ่มมีการผลิตแบสต์นีไซต์ และโมนาไซต์ จากส่วนที่ทิ้งจากเหมือง มวลสินแร่มีมากกว่า 20 มวล มีเหมืองมากกว่า 20 เหมือง ที่ประกอบด้วยแร่เหล็ก คือ แมกนีไทต์ ฮีมาไทต์ โมนาไซต์ แบสต์นีไซต์ แร่ที่มีไนโอเบียม ฟลูออไรต์ แบไรต์ ที่ฝังตัวอยู่ในหินคาร์บอเนไทต์ พวกโดโลไมต์ และแคลไซต์ ของไบยุนโอโบกรุป ซึ่งมีอายุ Proterozoic

มวลสินแร่ Main และ East มีขนาดใหญ่ที่สุดวางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ยาวประมาณ 1 และ 2 กิโลเมตรตามลำดับ และเอียงเทไปทางใต้ แร่หายาก ได้แก่ แบสต์นีไซต์ และ โมนาไซต์ กระจายอยู่ในหินคาร์บอเนต และมีความสัมพันธ์กับ แมกนีไทต์ ฮีมาไทต์ และฟลูออไรต์ รูปร่างของ Main Orebody พบว่า Massive Rare-Earth Iron Ore และ Fluorite Rare-Earth Iron Ore คือสินแร่ที่มีแร่หายากและเหล็กมากที่สุด ความสมบูรณ์เฉลี่ย 6 % REO

เชื่อว่าแหล่งแร่นี้เกิดจาก Hydrothermal Replacement ในหน่วยหินโดโลไมต์ ซึ่งมีหินชนวนหรือหินดินดานปิดทับ แหล่งแร่จะอยู่บนส่วนบนของหน่วยหินโดโลไมต์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในไบยุนโอโบกรุป วางตัวแบบไม่ต่อเนื่องอยู่บน Archean Migmatic Basement (Drew et al., 1991)

  • Mountain Pass คาร์บอเนไทต์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Kamitami,1989)

เป็นแหล่งแร่คาร์บอเนไทต์ที่มีปริมาณสำรองใหญ่เป็นที่สองของโลก ที่เกิดอยู่ในหินแปรยุค Precambrian มวลของคาร์บอเนไทต์ ชื่อ Sulfide Queen มีความยาว720 เมตร และกว้าง 210 เมตร ประกอบขึ้นด้วยแร่หลัก พวก แบสต์นีไซต์ แบไรต์ และคาร์บอเนต ปริมาณสำรองวัดได้ของ REO ประมาณ 5 ล้านตัน ความสมบูรณ์เฉลี่ย7 % REO ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาที่พบในหินคาร์บอเนไทต์

  • แหล่งแร่โลหะหายากชนิด Granite-Weathering Crust Ion Adsorption Type

แหล่งแร่ชนิดนี้เพิ่งได้มีการค้นพบและพัฒนาทำเหมืองเป็นแหล่งแร่ที่พบอยู่ในชั้นเปลือกดินที่เกิดจากการผุพังสลายตัวบนหินแกรนิตในประเทศจีน เช่น ลองนานซุนวู ดาเตียง และนานลิง ชั้นเปลือกดิน แบ่งออกได้เป็น 4 โซนตามชนิดของกลุ่มแร่ โซนของเมตต้าฮาลลอยไซต์-เคโอลิไนต์ เป็นโซนที่มีปริมาณธาตุโลหะหายากสูง แต่มีซีเรียมต่ำเป็นโซนที่มีการทำเหมืองด้วยวิธีเหมืองเปิด (Kamitami, 1989)

  • แหล่งแร่โลหะหายากในประเทศไทยโลหะหายากที่พบในประเทศไทยเท่าที่ทราบ จะอยู่ในแร่โมนาโซต์และซีโนไทม์ ซึ่งเป็นแร่พลอยได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุก-วูลแฟรม

ดังนั้นการหาแหล่งแร่โลหะหายากจึงต้องมุ่งไปหาแหล่งแร่ดีบุก ทั้งที่เป็นแบบปฐมภูมิ และแบบทุติยภูมิ

จากปัญหาทางด้าน อุปสงค์ และอุปทาน ของปริมาณสำรองโลหะหายากของโลก ดังที่กล่าวมาแล้ว แหล่งแร่ที่น่าจะพิจารณาอีกแบบในประเทศไทย คือ ชนิด Ion-Absorption Typeในชั้นเปลือกดินที่ผุพังสลายตัวจากหินแกรนิต โดยเฉพาะพวกหิน ทัวมาลีน-มัสโคไวต์-แกรนิต ที่ให้แร่ดีบุก โมนาไซต์ ซีโนไทม์ จึงน่าจะให้ธาตุโลหะชนิดที่ไปดูดซึมอยู่ในชั้นเปลือกดินได้เช่นกัน [3]