แอดแดกซ์
แอดแดกซ์

แอดแดกซ์

แอดแดกซ์ หรือ แอนทิโลปขาว หรือ แอนทิโลปเขาเกลียว (อังกฤษ: addax, white antelope, screwhorn antelope[3]) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นแอนทิโลปชนิดหนึ่ง จำพวกแอนทิโลปปศุสัตว์ จัดเป็นเพียงแพะชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Addaxโดยคำว่า "แอดแดกซ์" นั้นมาจากภาษาอาหรับแปลว่า "สัตว์ป่าเขาเบี้ยว" ขณะที่ชื่อชนิดทางวิทยาศาสตร์ nasomaculatus มาจากภาษาละตินแปลว่า "จมูกเป็นจุด" (nasus (หรืออุปสรรคว่า naso) หมายถึง "จมูก" และ macula หมายถึง "จุด" และหน่วยคำเติม atus) ขณะที่ชาวเบดูอินจะรู้จักแอดแดกซ์ดี โดยคำว่าแอดแดกซ์นั้นมาจากภาษาอาหรับเรียกว่า bakr (หรือ bagr) al wahsh หมายถึง วัว, ควาย หรือสัตว์กีบทั่วไป[4]แอดแดกซ์มีความแตกต่างจากแอนทิโลปอื่น ๆ ที่มีฟันขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมและไร้ต่อมบนหน้า มีความสูงจากไหล่ 91–115 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 120–130 เซนติเมตร ความยาวหาง 25–35 เซนติเมตร น้ำหนัก 60–125 กิโลกรัม ตัวเมียขนาดเล็กกว่าตัวผู้[5] มีขนสีน้ำตาลเทาในฤดูหนาว และเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีซีดในฤดูร้อน มีขนสีน้ำตาลหรือดำรูปตัวเอ็กซ์บนจมูก ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเขาทั้งคู่ ลักษณะเขาบิดเป็นเกลียวยาว 55–85 เซนติเมตร และมีการขด 2–3 ครั้ง มีกีบเท้าขนาดใหญ่เพื่อเดินบนพื้นทราย ที่กีบเท้าทั้งหมดมีต่อมกลิ่นอยู่[6] แต่เป็นสัตว์ที่มีความเชื่องช้าจึงมักตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าอยู่เสมอ ๆ เช่น สิงโต, หมาป่าแอฟริกา, ไฮยีนา, ชีตาห์, เสือดาว, คาราคัล, เซอวัล และมนุษย์ โดยเป็นสัตว์ที่ไม่ก้าวร้าวแม้จะถูกรบกวนก็ตาม[6]พบกระจายพันธุ์ในแอฟริกาเหนือ โดยเป็นสัตว์พื้นเมืองของชาด, มอริเตเนีย และไนเจอร์ ปัจจุบันนี้สูญพันธุ์ไปแล้วที่แอลจีเรีย, อียิปต์, ลิเบีย, ซูดาน และเวสเทิร์นสะฮารา และกำลังได้รับการฟื้นฟูที่โมร็อกโกและตูนิเซีย[1]ปัจจุบันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤตเนื่องจากพบน้อยกว่า 500 ตัว[1] ในแถบทะเลทรายสะฮารา เป็นสัตว์ที่มีความอดทนอย่างมากจากการขาดน้ำเนื่องจากรับน้ำจากอากาศและพืชจำพวกพุ่มไม้หรืออาเคเชียที่กินเข้าไป อีกทั้งยังมีกระเพาะที่มีความพิเศษที่เก็บน้ำไว้ใช้ในคราวจำเป็น และปัสสาวะก็มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ[7] เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืนโดยจะหลบนอนอยู่ตามร่มเงาของภูเขาทรายในเวลากลางวันและหลบพายุทะเลทราย แต่แอดแดกซ์เป็นสัตว์ที่มีอยู่จำนวนมากในสถานที่เลี้ยงหรือเขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติในปัจจุบัน มีโครงการขยายพันธุ์ในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล, ญี่ปุ่น, ทวีปอเมริกาเหนือ, ซูดาน, อียิปต์, ออสเตรเลีย เป็นต้น[1]