อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง ของ แฮฮัวเหลง

เมื่อไม่นานก่อนที่การก่อรัฐประหารโค่นล่มโจซองจะเริ่มต้น โจวุนซกสามีของแฮฮัวเหลงเสียชีวิต เวลานั้นเนื่องด้วยการต่อต้านสมาชิกของตระกูลโจขยายตัวมากขึ้นและความนิยมของตระกูลสุมาก็มากขึ้น เซี่ยโหว เหวินหนิงบิดาของแฮฮัวเหลงจึงเข้าร่วมกับฝ่ายที่ต่อต้านตระกูลโจ เซี่ยโหว เหวินหนิงตัดสินใจจะให้แฮฮัวเหลงแต่งงานใหม่เข้าตระกูลใหม่เพื่อตัดสัมพันธ์กับตระกูลโจ แต่แฮฮัวเหลงต้องการจะรักษาเกียรติของตนเองและคงความภักดีต่อตระกูลโจจึงยอมตัดผมและเฉือนหูของตนเองเพื่อแสดงการปฏิเสธต่อคำขอของบิดา[4]

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[lower-alpha 2] โจซองและน้องชาย 2 คนคือโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) และโจหุ้น (曹訓 เฉา ซฺวิ่น) ออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปสักการะบรรพชนที่สุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลง) หลังจากนั้นจึงจะไปล่าสัตว์นอกนครลกเอี๋ยง สุมาอี้ขุนพลที่มีชื่อเสียงที่บิดาของแฮฮัวเหลงนับถือได้ฉวยโอกาสนี้เข้าก่อการรัฐประหารและเข้าบัญชาการกำลังทหารที่ประจำการในลกเอี๋ยง

เมื่อสุมาอี้ควบคุมนครหลวงลกเอี๋ยงและออกฎีกาแสดงรายการความผิดจำนวนมากที่โจซองเคยกระทำ โจซองยอมจำนนและยอมสละอำนาจหลังจากได้รับคำมั่นจากสุมาอี้ว่าตัวโจซองและครอบครัวจะได้รับการไว้ชีวิต ภายหลังสุมาเข้าเฝ้ากวยทายเฮาและบังคับให้พระองค์มีพระราชเสาวนีย์ให้จับกุมโจซองและเหล่าน้องชายในข้อหากบฏ ครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ โจซองและเหล่าน้องชายรวมถึงผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว

หลังจากการเสียชีวิตของโจซอง แฮฮัวเหลงเฉือนจมูกของตนเองเพื่อตอบโต้คำขอของคนในครอบครัวที่ให้ตัดสัมพันธ์กับตระกูลโจที่สิ้นอำนาจ คนในครอบครัวต่างตกตะลึงกับการกระทำของแฮฮัวเหลงแล้วพูดว่า "ชีวิตของเราบนแผ่นดินนี้เปรียบเหมือนฝุ่นบางเบาบนใบหญ้าอ่อน เหตุใดเจ้าต้องทรมานตนเองขนาดนี้ นอกจากนี้ตระกูลของสามีเจ้าก็ถูกทำลายล้างจนสิ้นแล้ว จะยังรักษาพรหมจรรย์อยู่เพื่อประโยชน์อันใด"

แฮฮัวเหลงตอบกลับด้วยความดูถูกการกระทำอันขี้ขลาดของครอบครัวตนเองว่า:

"ข้าได้ยินว่าบุคคลผู้ทรงคุณค่าย่อมไม่ละทิ้งหลักการของตนเพราะโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงไป และบุคคลผู้ชอบธรรมก็ไม่เปลี่ยนความคิดในแง่ของการรักษาหรือการทำลาย ขณะที่ตระกูลโจรุ่งเรือง ข้าก็รักษาพรหมจรรย์ของตนเองไว้ บัดนี้ตระกูลโจสูญสิ้นไปแล้ว ข้าจะกล้าละทิ้งได้อย่างไร แม้แต่สัตว์ยังไม่ทำเช่นนี้ แล้วข้าจะทำได้อย่างไร"[6]

เมื่อสุมาอี้ได้ยินเรื่องการกระทำอันกล้าหาญของแฮฮัวเหลงก็ชื่นชมความภักดีของแฮฮัวเหลง และอนุญาตให้แฮฮัวเหลงรับบุตรบุญธรรมที่เป็นญาติของโจซองเพื่อให้สืบเชื้อสายของตระกูลโจต่อไป

การก่อรัฐประหารของสุมาอี้เพิ่มอิทธิพลให้กับตระกูลสุมาและปูทางให้ราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมามาแทนที่การปกครองของวุยก๊กในที่สุดในปี ค.ศ. 266 แฮฮัวเหลงยังคงอยู่ในอาณาเขตของตระกูลสุมาและเลี้ยงบุตรบุญธรรมคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องทางเชื้อสายโดยตรงกับโจโฉ ด้วยบุตรบุญธรรมคนนี้แฮฮัวเหลงจึงได้สืบมรดกของเชื้อสายตระกูลโจต่อไป