งานสร้าง ของ โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี

แนวคิดภาพยนตร์เรื่องนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยบริษัทยังเป็นจีทีเอช โดย จิระ มะลิกุล ได้จัดค่ายการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยให้ผู้กำกับทั้งหมดของจีทีเอชเข้าร่วมประชุมและจับคู่กันคิดโครงเรื่องภาพยนตร์ให้ได้คู่ละหนึ่งเรื่อง ซึ่งตัวของปวีณ ได้จับคู่กับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เดิมทีทั้งคู่มีความชอบที่คล้าย ๆ กันอยู่แล้ว คือชอบแนววิทยาศาสตร์และแนวสยองขวัญ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำภาพยนตร์เรื่องอะไร จนกระทั่งในคืนนั้นเกิดข่าวลือว่าห้องพักของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ มีผีอาศัยอยู่ และทำให้ภาคภูมิต้องขอแลกห้องกับผู้กำกับคนอื่น ปวีณและนวพลจึงเกิดความสงสัยว่าในห้องมีผีจริงหรือไม่ และการหาความจริงในเรื่องนี้จึงต้องมีการทดลอง สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายวันนั้น ทำให้ปวีณและนวพลเลือกนำเสนอโครงเรื่องภาพยนตร์สยองขวัญกึ่งวิทยาศาสตร์ โดยที่มีตัวเอกสองคนร่วมทดลองหาความจริงถึงเรื่องผี และโลกหลังความตาย และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงเรื่องที่จะถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 จีดีเอช ห้าห้าเก้า ต้องการโครงเรื่องเพื่อพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ เนื่องจากภาพยนตร์ที่เตรียมไว้ได้หมดสต็อก และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการถ่ายทำละครฉลาดเกมส์โกงซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ปวีณและนวพลจึงได้เสนอให้ จีดีเอช หยิบโครงเรื่องนี้ขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์ และก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงริเริ่มพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่แล้วด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้แผนงานของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเลื่อนจากปี พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2564 จนกระทั่งจีดีเอชเห็นแนวโน้มว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จีดีเอช จึงได้เปลี่ยนแผนจากนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นการฉายภาพยนตร์ออนไลน์ทีเดียวทั่วโลก บริษัทฯ จึงได้เสนอขายภาพยนตร์ให้ เน็ตฟลิกซ์ นำไปจัดจำหน่าย ซึ่งหลังจากธุรกรรมแล้วเสร็จ เน็ตฟลิกซ์ จึงได้เข้ามากำหนดมาตรฐานการสร้างภาพยนตร์เพิ่มเติม โดยขอให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบดอลบี วิชั่นและมาตรฐาน HDR 10+ ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงการมิกซ์เสียงก็ได้ขอให้มีการมิกซ์ในระบบ 5.1 เพื่อให้ภาพยนตร์มีคุณภาพทัดเทียมกับภาพยนตร์เน็ตฟลิกซ์จากผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่งระหว่างกระบวนการตัดต่อในช่วงสุดท้ายนี้ เน็ตฟลิกซ์ ได้หยิบนำเอาบทภาพยนตร์ไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เพื่อทำการพากย์เสียงในภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมภายใต้สตูดิโอของเน็ตฟลิกซ์ เพื่อเตรียมที่จะปล่อยฉายพร้อมกันทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมด้วยเช่นกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ปวีณ ได้ติดต่อให้ ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ หรือ Bill Hemstapat ผู้กำกับเสียงของโซนี่ อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ มาร่วมทำเพลงประกอบให้ทั้งเรื่อง เพื่อให้เพลงประกอบมีความน่าค้นหาตามเนื้อหาหลักของภาพยนตร์[ต้องการอ้างอิง]

ใกล้เคียง

โกสต์ด็อกเตอร์: ผีหมอ หมอผี โกสต์ไนน์ โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี โกสต์ ไรเดอร์ อเวจีพิฆาต โกสต์ทริก: แฟนทอมดีเท็กทีฟ โกสต์สควอด (วิดีโอเกม) โกสต์ ไรเดอร์ มัจจุราชแห่งรัตติกาล โกสต์ อิน เดอะ เชลล์ 2: อินโนเซนส์ โกสต์อินเดอะเชลล์ โกสต์ อิน เดอะ เชลล์ (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2560)