โฉมหน้าศักดินาไทย
โฉมหน้าศักดินาไทย

โฉมหน้าศักดินาไทย

โฉมหน้าศักดินาไทย เป็นผลงานโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ "โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน" ในวารสาร นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่ พ.ศ. 2500 ก่อนที่ตีพิมพ์ครั้งที่สองใน พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เชียงใหม่และรามคำแหง[1] จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดีผลงานดังกล่าวเขียนขึ้นในยุคที่ประเทศไทยยังมีสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา[2] ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเนื่องจากเสนอประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองที่แตกต่างไปจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก ปฏิกิริยาต่อหนังสือนี้ทำให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนหนังสือ "ฝรั่งศักดินา" โต้[2] จิตรใช้วิธีวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในสำนักลัทธิมากซ์[3]:19,24 ทั้งนี้ เป็นผลงานที่ต้นฉบับไม่สมบูรณ์[3]:24 หนังสือมีเนื้อหากล่าวถึงศักดินาทั่วไปและศักดินาไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยโดยคร่าว ๆ ตั้งแต่บรรพกาลจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่พัฒนาจากสังคมทาสมาเป็นสังคมศักดินา ตลอดจนการดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์ไทยที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐและสังคม[2] ชี้ให้เห็นลักษณะขูดรีดของชนชั้นศักดินา หลักฐานยืนยันลำดับชั้นทางสังคมของไทยที่สามารถเปลี่ยนลำดับชั้นทางสังคมได้ยาก สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของชนชั้นไพร่และทาส

โฉมหน้าศักดินาไทย

สำนักพิมพ์ สภาหน้าโดม ธรรมศาสตร์, สภากาแฟ, เกตรศาสตร์, แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่ และชมรมคนรุ่นใหม่ รามคำแหง
ประเภท สารคดี
ประเทศ ไทย
เลขทศนิยมดิวอี 571 จ433ฉ
ผู้ประพันธ์ จิตร ภูมิศักดิ์
หัวเรื่อง ศักดินา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
ภาษา ไทย
ชนิดสื่อ สิ่งพิมพ์
วันที่พิมพ์ พ.ศ. 2500 (บทความวารสาร)
พ.ศ. 2517 (รวมเล่มครั้งแรก)